ฎีกาตัดสินปิดฉากคดีดัง
จ้างฆ่าเอ็กซ์-จักรกฤษณ์
จำคุก‘แม่หมอนิ่ม’25ปี
ลงมือเพราะทุกข์สาหัส

แฟ้มคดี

เป็นอีก 1 คดีที่สังคมให้ความสนใจ สำหรับการฆาตกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม เมื่อปี 2556

ที่มีต้นเหตุเกิดจากความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัว จนทำให้ครอบครัวฝ่ายภรรยาอดทนไม่ได้ และไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง

กลายเป็นการจ้างวานฆ่า เพื่อชิงลงมือก่อน แล้วทำเป็นคดีความขัดแย้งทั่วไป

แต่ในที่สุดอาชญากรรมย่อมทิ้งร่องรอย ด้วยการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย

เมื่อไปถึงชั้นศาลก็ต้องต่อสู้กันไปตามกระบวนการยุติธรรม

และในที่สุดคดีก็ถึงบทสรุป เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา ยืนยกฟ้องหมอนิ่ม และแก้โทษ จำคุกแม่หมอนิ่ม จากตลอดชีวิตเป็น 25 ปี

โดยให้เหตุผลว่ามีเหตุควรบรรเทาโทษ ปิดคดีดังที่ต่อสู้กันมายาวนาน

ที่เกิดเหตุ

ย้อนคดีฆ่าโหดเอ็กซ์ จักรกฤษณ์

สำหรับคดีโหดครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 19 ต.ค. 2556 ขณะที่เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ขับรถหรูปอร์เช่ ก็ถูกคนร้ายขี่จยย.ประกบจ่อยิงหลายนัด เสียชีวิตคารถ บนซอยรามคำแหง 166 ถนนรามคำแหง แขวงและเขตมีนบุรี

หลังเกิดเหตุพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ในขณะนั้น จัดทีมงานชุดใหญ่เข้าคลี่คลายคดี ซึ่งจากคำให้การของพยานและภาพวงจรปิดพบคนร้ายเป็นชาย 2 คน โดยขณะที่รถของเอ็กซ์ขับออกจากบ้าน คนร้ายที่ดักรออยู่อีกจุดหนึ่งก็ขี่จยย.สวนเลนย้อนมาดักรอลงมือในจังหวะพอดิบพอดี

จึงแน่ใจว่ามือปืนน่าจะรู้เวลาที่เอ็กซ์ขับรถออกจากบ้าน หรือกระทั่งมีคนในเฝ้าจับตาอยู่และส่งสัญญาณให้ทีมสังหารทันทีว่า เป้าหมายเคลื่อนตัวแล้ว

ครั้งแรกเจ้าหน้าที่สันนิษฐานสาเหตุการสั่งตายครั้งนี้ไว้หลายประการ เพราะผู้ตายถือเป็นผู้ที่มีประวัติโลดโผน รู้จักกันหลากหลายวงการ พร้อมพุ่งไปที่ความขัดแย้งวงการพระเครื่อง ความขัดแย้งในสมาคมยิงปืน และธุรกิจอื่นๆ

แต่ก็ไม่ทิ้งประเด็นความขัดแย้งในครอบครัว เพราะก่อนหน้าเกิดเหตุมีเหตุความรุนแรง จนภรรยาต้องแจ้งความและร้องทุกข์กับ นางปวีณา หงสกุล รมว.พม.ในขณะนั้น ว่าถูกทำร้าย-ข่มขู่

จนเอ็กซ์-จักรกฤษณ์ ถูกจับเข้าเรือนจำทหาร ต่อมาพบว่าพี่ชายหมอนิ่มก็ติดต่อพรรคพวกให้คนมีสีมาเดินคุ้มกัน

ในที่สุดจากการสอบสวนที่เข้มข้นก็ตัดประเด็นสงสัยไปหลายปม และพบตัวละครใหม่คือน.ส.วรพรรณภูรี หรือแหม่ม มนตรีอารีกูล พนักงานบริษัทหลักทรัพย์ที่สนิทสนมกับหมอนิ่ม

ถึงขนาดไปเยี่ยมหมอนิ่ม ที่รักษาตัวจากอาการแท้งลูกช่วงปลายเดือนก.ค. 2556

นอกจากนี้ยังพบว่าวันที่เอ็กซ์ถูกยิงเสียชีวิต แหม่มโทร.ติดต่อกับนายสันติ หรือทนายอี๊ด ตลอดทั้งวัน ต่อมาก็พบผู้ต้องสงสัยอีกก็คือนายจิรศักดิ์ ชาวอ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ฯ ที่รู้จักกับทนายอี๊ด ซึ่งมีรูปพรรณคล้ายกับมือปืนที่พบในวงจรปิด

จึงขออนุมัติหมายจับ แล้วบุกจับกุมตัวได้ที่บ้านพักในจ.ชลบุรี เมื่อนำตัวมาสอบสวนก็เปิดปากสารภาพทั้งหมด

โดยระบุว่าได้รับการติดต่อจากทนายอี๊ด ให้สังหารเหยื่อขับเก๋งปอร์เช่ ในจุดที่เกิดเหตุในราคา 2 แสนบาท โดยแบ่งกับนายธวัชชัย คนขี่จยย.คนละครึ่ง

ขณะที่เจ๊แหม่มบอกว่า ได้รับการติดต่อจากนางสุรางค์ แม่หมอนิ่ม ให้ติดต่อทนายอี๊ดเพื่อหามือปืนมาสังหารเอ็กซ์ โดยมีค่าจ้าง 1.2 ล้านบาท เพราะทนไม่ไหวที่เอ็กซ์ทำร้ายร่างกายลูกสาวอย่างรุนแรง จนแท้ง ต้องเข้าร.พ.

โดยตอนแรกจ่ายเงินให้ทนายอี๊ด 6 แสนบาท แต่ยังไม่มีโอกาสลงมือ กระทั่งปลายเดือนก.ย. 2556 ทนายอี๊ดขอเงินเพิ่มอีก 6 แสนบาท และลงมือสำเร็จในที่สุด

เป็นคดีที่เกิดจากปัญหาครอบครัว

แม่และหมอนิ่มมอบตัว

ลดโทษแม่หมอนิ่ม-คุก 25 ปี

คดีดังกล่าวสู้กันในศาลถึงชั้นฎีกา โดยเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 มีรายงานระบุว่าเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ศาลอาญามีนบุรี ถ.สีหบุรานุกิจ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีความผิดต่อชีวิต ในคดีจ้างวานฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อายุ 40 ปี อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติ หมายเลขดำ อ.383/57

ซึ่งคดีดังกล่าวอัยการศาลจังหวัดมีนบุรี และนายมานพ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติ บิดา เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง นายจีรศักดิ์ หรือจี กลิ่นคล้าย อายุ 50 ปี มือปืนผู้ลั่นกระสุน ที่ 1 น.ส.สุรางค์ ดวงจินดา อายุ 79 ปี มารดา พญ.นิธิวดี ที่ 2 พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม ภู่เจริญยศ อายุ 45 ปี ที่ 3 นายสันติ หรืออี๊ด ทองเสม อายุ 35 ปี ทนายความที่ 4 และนายธวัชชัย หรืออ้น เพชรโชติ อายุ 38 ปี คนขี่ จยย.ร่วมกันเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ จ้างวานฆ่าผู้อื่นฯ พ.ร.บ.อาวุธปืน

ขณะที่นางบุญคิด พณิชย์ผาติกรรม มารดา เอ็กซ์-จักกฤษณ์ ยื่นคำร้อง ขอให้พวกจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4.4 ล้านบาทด้วย

โดยศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษา เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2559 ให้ประหารชีวิตสถานเดียว พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม จำเลยที่ 3 และนายสันติ หรือทนายอี๊ด จำเลยที่ 4 ฐานร่วมกันใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่น

ขณะที่จำเลยที่ 1 และ 5 มือปืน และคนขี่จยย. ให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนน.ส.สุรางค์ มารดาหมอนิ่ม พิพากษายกฟ้อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2.5 ล้านบาท แก่ผู้ร้อง พร้อมให้ประกันตัวพญ.นิธิวดี 2.5 ล้านบาทสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

ต่อมาวันที่ 7 ส.ค. 2561 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องพญ.นิธิวดี แต่ให้ลงโทษประหารชีวิต น.ส.สุรางค์ มารดา ฐานใช้จ้างวานให้ฆ่าผู้ตาย เห็นแก่คำให้การมีประโยชน์ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

โดยศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ต่อสู้ในประเด็นการร่วมจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะชำระเสร็จให้กับโจทก์ร่วมและผู้ร้องนั้น ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมชดใช้ตามจำนวนดังกล่าวนั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และฎีกาข้ออื่นที่ต่อสู้ประเด็นการรับฟังคำให้การพยานที่มาลงโทษจำเลยก็ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

นอกจากนี้พิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของน.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และกระทำความผิดเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2)

คงลงโทษจำคุก จำเลยที่ 2 ไว้ 25 ปี นอก จากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ลดโทษเหลือจำคุก 25 ปี!!

ครั้งศาลอุทธรณ์ตัดสิน

แจงเหตุควรบรรเทาโทษ

ทั้งนี้ ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า เนื่องจากพฤติการณ์การกระทำผิดของน.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแม่ยายผู้ตาย เกิดจากการที่ผู้ตายกระทำต่อ พญ.นิธิวดี จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวของจำเลยที่ 2 ครั้งแล้วครั้งเล่า

บางครั้งยังกระทำต่อหน้าหลานเล็กๆ ของจำเลยที่ 2 อีก ซึ่งปัญหาทั้งหมดเนื่องมาจากปัญหาการควบคุมอารมณ์ของผู้ตาย

อีกทั้งก่อนเกิดเหตุ มีความไม่แน่นอนว่า ผู้ตายซึ่งเป็นนักกีฬายิงปืน มีอาวุธปืนอาจ ใช้อาวุธปืนของตน กระทำต่อจำเลยที่ 3 และครอบครัวในขณะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็เป็นได้ เพราะก่อนเกิดเหตุเพียง 2 เดือน ผู้ตายยังใช้อาวุธปืนยิงไปทางคนรับใช้และบุตรคนเล็ก จนผู้ตายถูกจับและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ และเพิ่งได้รับการประกันตัวมา ไม่นาน

การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ขณะเกิดเหตุเป็นหญิงมีอายุถึง 72 ปีและบัดนี้มีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเข้าลักษณะของผู้กระทำความผิดที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลอาจลดโทษได้ให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 ในการลดโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ลดดังต่อไปนี้ โดยถ้าจะลดกึ่งหนึ่งให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปีถึง 50 ปี

ที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้น.ส.สุรางค์จำเลยที่ 2 เพียงหนึ่งในสาม และคงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ด้วยเหตุเพียงคำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา

ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 อีก

จึงพิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การชั้น สอบสวนของน.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และกระทำความผิดเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงลงโทษจำคุก จำเลยที่ ไว้ 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ปิดฉากคดีฆาตกรรมที่น่าสลด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน