สมเด็จพระวันรัต (ทับ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโสมนัส – วันเสาร์ที่ 6 พ.ย. 2564 น้อมรำลึกครบ 215 ปี ชาตกาล“สมเด็จพระวันรัต” (ทับ พุทธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นสมเด็จพระวันรัต องค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นพระเถระ 1 ในจำนวน 10 รูป ผู้เป็น ต้นวงศ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้

มีนามเดิมว่า ทับ เกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2349 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่หมู่บ้านสกัดน้ำมัน ปากคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตะวันออก ใกล้ วัดเทวราชกุญชร กรุงเทพฯ โยมบิดาชื่อ อ่อน ผู้คนนิยมเรียกว่า ท่านอาจารย์อ่อน โยมมารดา ชื่อ คง ท่านเป็นบุตรคนโตในตระกูล

กล่าวกันว่า ครอบครัวของท่านเป็นชาวกรุงเก่า แต่เมื่อกรุงศรี อยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.2310 ได้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ

อายุ 9 ขวบ เข้าเรียนอักษรสมัย อยู่ที่วัดภคินีนาถ ต่อมาได้เข้าเรียนบาลี โดยเรียนสูตรมูลกัจจายน์ อยู่ที่วัดมหาธาตุ

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพอพระราชหฤทัยในตัวท่าน จึงทรงให้อุปการะเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมของท่านทรงจัดสอบความรู้ ผู้ที่เรียนสูตรเรียนมูลที่วังเนืองๆ ท่านได้ไปสอบถวาย โปรดประทานรางวัล

ไม่ปรากฏหลักฐานว่า บรรพชาเมื่ออายุเท่าไร ทราบแต่ว่า บรรพชาที่วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู

ครั้นได้บรรพชาแล้ว รัชกาลที่ 3 ในสมัยที่ยังดำรงพระยศ เป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงโปรดให้ท่านไปอยู่จำพรรษาที่วัดราชโอรส อันเป็นวัดที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น

ครั้นเมื่ออายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อปีจอ พ.ศ.2369 ที่ วัดเทวราชกุญชร โดยมี พระธรรมวิโรจน์ (เรือง) วัดราชาธิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์, พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมฬีโลกยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระวินัยมุนี (คง) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาที่วัดราชาธิวาส ตั้งแต่นั้นมา ศึกษาเล่าเรียนในสำนักอาจารย์นพรัตน์ ที่วัดไทรทอง (วัดเบญจมบพิตร) และพระมหาเกื้อวัดชนะสงคราม

พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะที่ทรงผนวช) เสด็จไปครองวัดบวรนิเวศวิหาร และในสมัยนั้น พระสงฆ์วัดราชาธิวาส มีทั้งพระมหานิกาย และพระธรรมยุตอยู่ด้วยกัน แต่อธิบดีสงฆ์ เป็นมหานิกาย จึงได้โปรดให้ท่านอยู่ครอง ฝ่ายธรรมยุต ที่วัดราชาธิวาส

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงโปรดให้ท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรม ในสนามหลวง ครั้งแรก ท่านแปล 7 ประโยคแล้วท่านไม่แปลต่อ รอมาอีกระยะหนึ่งจึงเข้าแปลได้อีก 2 ประโยค รวมเป็น 9 ประโยค

ครั้นท่านเป็นเปรียญ 9 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งท่านเป็น พระราชาคณะ ที่ พระอริยมุนี และอยู่ที่ วัดราชาธิวาส ต่อมา

หลังจากพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลาผนวช และขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ.2394 พระองค์ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหาร ด้วยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี อัครมเหสีของพระองค์ ได้พระราชทานนามว่า “วัดโสมนัสวิหาร” โดยทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2396 ทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชั้นราชวรวิหาร ในเนื้อที่ 31 ไร่เศษ

พ.ศ.2399 พระองค์ทรงอาราธนาพระอริยมุนี (ทับ) จากวัดราชาธิวาส พร้อมด้วยคณะสงฆ์ประมาณ 40 รูป โดยขบวนแห่ทางเรือ ให้มาอยู่ ครองวัดโสมนัสวิหาร ท่านจึงได้ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดแห่งนี้ ปกครองวัดโสมนัสวิหารสืบมา

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2400 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระพรหมมุนี พ.ศ.2415 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายเหนือที่ พระพิมลธรรม พ.ศ.2422 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ที่ สมเด็จพระวันรัต

ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันพุธที่ 4 พ.ย.2434

สิริอายุ 86 ปี พรรษา 65

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน