รู้ใหม่เพื่อเข้าใจและอยู่กับโรคสะเก็ดเงิน – ในวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day) โดยในปีนี้สถาบัน International Federation of Psoriasis Associations (IFPA) ได้มีการจัดแคมเปญ ‘รวมเป็นหนึ่งเพื่อสร้างสิ่งใหม่’ (United) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งผสานความร่วมมือระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อการรักษาและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง เกิดจากการทำงานผิดปกติของเม็ดเลือดขาว ทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง นูน และมีสะเก็ดสีขาว พบได้ทั่วร่างกาย เกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด และรักษาได้แค่ควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงินยังส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ที่ก่อให้เกิดโรคร่วมอื่นได้ เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางด้านจิตใจ ที่ล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ในขณะที่คนทั่วไปที่ไม่รู้จักโรคนี้อย่างแท้จริงอาจมีความเข้าใจผิดและสร้างข้อจำกัดให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตร่วมในสังคมได้ยากขึ้น

ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขาธิการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยจะพิจารณาอาการของแต่ละราย ที่นอกจากอาการทางร่างกายแล้วจำเป็นต้องประเมินอาการทางด้านจิตใจควบคู่กันด้วย โดยแคมเปญนี้เน้นความสำคัญด้านความร่วมมือในการรักษา แพทย์จะต้องเปิดโอกาสและสร้างความไว้ใจให้ผู้ป่วยได้บอกเล่าสิ่งที่ตนเองต้องเผชิญจากการเป็นโรคนี้ นอกเหนือจากอาการทางกายที่แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้เอง ดังนั้นความร่วมมือร่วมใจเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างตรงจุดและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคสะเก็ดเงินถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่อยู่ภายใต้การดูแลจากภาครัฐอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นยารักษาอาการ การรักษาด้วยการฉายแสง โดยอยู่ในสิทธิประโยชน์การรักษาของประชาชนทุกสวัสดิการ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ

นอกจากนี้ ในยุคที่มีการพัฒนาค้นพบการรักษาใหม่ๆ ของโรคสะเก็ดเงิน เช่น ยาทาชนิดใหม่ หรือยาชีววัตถุ (Biologic drugs) ก็ได้มีการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดจนความคุ้มทุนของการรักษาใหม่ๆ นั้นเพื่อบรรจุเข้าเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเปิด ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษานั้นได้อย่างรวดเร็ว รวมถึง Telemedicine ซึ่งภาครัฐก็ได้อนุญาตให้มีการเบิกจ่ายเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง

พญ.มิ่งขวัญกล่าวด้วยว่า ในอนาคตจะพัฒนาแผนให้บริการผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินในแผนการให้บริการหลัก (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างทั่วถึง และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ พร้อมทั้งการบูรณาการการรักษาโรคสะเก็ดเงินและโรคร่วมต่างๆ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและนอกประเทศ

ด้าน รศ.พญ.นฤมล ศิลปอาชา ภาควิชา ตจวิทยา โรงพยาบาลศิริราช และแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินเป็นได้จากหลายปัจจัยประกอบกัน คือปัจจัยด้านพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยภายนอก ส่งสัญญาณไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งสร้างสารเคมีบางชนิดไปกระตุ้นให้ผิวหนังมีการอักเสบและหนาตัวขึ้น โรคสะเก็ดเงินพบรอยโรคเป็นผื่นนูน แดง เป็นปื้นหนา มีสะเก็ดสีขาวปกคลุมทั่วผื่น ผู้ป่วยอาจมีอาการคันได้ สามารถพบผื่นสะเก็ดเงินได้ในทุกตำแหน่งของร่างกาย แต่จะพบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัวส่วนหลัง ศอก เข่า หน้าแข้ง

โรคสะเก็ดเงินมีลักษณะผื่นได้หลายชนิด ประกอบด้วย ชนิดปื้นหนา เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด พบประมาณร้อยละ 70 พบลักษณะผื่นนูนแดงหนาที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสี กดทับ, ชนิดหยดน้ำ พบผื่นขนาดเล็กกระจายทั่วลำตัว มักพบในคนอายุน้อย, ชนิดตุ่มหนอง พบตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังสีแดง ผู้ป่วยมักมีอาการไข้หรือเจ็บบริเวณผื่นร่วมด้วย บางครั้งผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาอาจพบตุ่มหนองร่วมด้วยได้ ในกรณีที่มีการกำเริบของโรค

ชนิดแดงลอกทั่วตัว ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงลอกเกือบทั่วผิวกาย จัดเป็นสะเก็ดเงินชนิดรุนแรง อาจมีไข้ร่วมด้วย นอกจากนั้นจะมีการสูญเสียโปรตีนไปทางสะเก็ดที่หลุดร่วง และโรคสะเก็ดเงินบริเวณมือ เท้า พบผื่นแดงหนาเด่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า พบผิวหนังแตกเป็นร่องได้ ทำให้มีอาการเจ็บเวลาลงน้ำหนัก

รศ.พญ.นฤมลกล่าวว่า โรคสะเก็ดเงินสามารถพบรอยโรคที่เล็บได้ โดยพบที่เล็บมือบ่อยกว่าเล็บเท้า รอยโรคที่พบ เช่น เล็บเป็นหลุม เล็บล่อน ขุยหนาใต้เล็บ เล็บผิดรูป เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายพบมีข้ออักเสบสะเก็ดเงินร่วมด้วย โดยมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 15-30 ซึ่งอาจพบการอักเสบบริเวณเส้นเอ็นใกล้ข้อ การอักเสบในข้อทั้งส่วนรยางค์และข้อแกนกลางลำตัวได้

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน มีข้อแนะนำปฏิบัติดังนี้ 1.ควรพบแพทย์ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินความรุนแรงของผื่นและอาการทางข้อ และแพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนการรักษาถ้ามีข้อบ่งชี้

2.ควรรักษาโรคประจำตัวควบคู่กันไปด้วย พบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีความสัมพันธ์กับโรคในกลุ่มเมตะบอลิก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง เป็นต้น

3.ควรดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ โดยดูจากค่ามวลดัชนีกาย ในผู้ป่วยไทย ค่ามวลดัชนีกายในเพศหญิงไม่ควรเกิน 23 และในเพศชายไม่ควรเกิน 25 เลือกรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น อาหารจำพวกผัก ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผลไม้ที่ไม่หวานจัด ข้าวไม่ขัดสี ถั่ว เนื้อปลา น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกที่มีน้ำตาลสูง ขนมหวาน น้ำอัดลม ข้าวขาว อาหารทอด เนื้อแดง เนื้อสัตว์ติดมัน กะทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลเชิงเดี่ยวและไขมันอิ่มตัวจำนวนมาก

4.ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที โดยออกกำลังกายชนิดแอโรบิก ให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้นกว่าค่าสูงสุดปกติประมาณร้อยละ 60-70 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและช่วยคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์

5.ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ ไม่ว่าจะเป็น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การแกะเกา นอนพักผ่อน ไม่เพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือ ความเครียด ทำความเข้าใจกับตัวโรคว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดวิธีเดียวที่ทำให้โรคหายขาดได้ แต่การรักษาต่อเนื่องจะทำให้โรคดีขึ้นได้มาก ร่วมกับการลดปัจจัยกระตุ้นต่างๆ

สำหรับญาติหรือคนในครอบครัวควรทำความเข้าใจว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ การให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความเครียดลงได้ ในทุกวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีที่ถือให้เป็นวันสะเก็ดเงินโลก สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยจึงขอเป็นสื่อกลางในการสนับสนุนและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน เพื่อให้ผู้ป่วยปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม มีความรู้เกี่ยวกับโรคที่ตนต้องเผชิญ เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเองในการรักษา ในการลดอุบัติการณ์ของโรคร่วมและให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน