ธกส.ปล่อยกู้หมื่นล้านฟื้นฟูเกษตรกร
คลังยันมีเงินประกันรายได้ชาวนา-เปิดช่องรื้อเพดานหนี้

คลังยืนยันมีเงินจ่ายค่าประกันรายได้ชาวนา วงเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท ล่าสุดมอบให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หารือกับสำนักงบประมาณเพื่อหาแหล่งเงินเพิ่มเติม ไม่ปิดช่องรื้อเพดานก่อนหนี้แบงก์รัฐเกิน 30% ด้าน ธ.ก.ส.เดินหน้าปล่อยกู้หมื่นล้านฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ซึ่งต้องใช้เงินอีก 7.6 หมื่นล้านบาทว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงบประมาณว่ายังมีแหล่งเงินในส่วนไหน อย่างไรที่จะสามารถดึงมาดำเนินการได้บ้าง

ส่วนข้อเสนอเรื่องการขยายเพดานการก่อหนี้ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และหน่วยงานอื่น เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 ที่กำหนดว่าภาระหนี้ในส่วนนี้รวมกันต้องไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายนั้น คลังกับสำนักงบประมาณต้องคุยกันก่อน ว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 กำหนดไว้ว่า การใช้เงินของสถาบัน การเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่เพื่อการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ไปก่อน จะต้องมีภาระรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 30% ของงบประมาณ รายจ่าย ซึ่งปัจจุบันใกล้ชนเพดานดังกล่าว หรือประมาณ 9.3 แสนล้านบาท เทียบกับวงเงินงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านบาท

นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถแก้ปัญหาได้ โดยการแก้ไขกฎหมายขยายเพดานการใช้เงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อดำเนินนโยบายของรัฐให้มีสัดส่วนมากขึ้นกว่า 30% ของงบประมาณ ที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน เหมือนกับที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี

ด้านนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพ การสร้าง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย ที่มาจากอิทธิพลพายุโซนร้อน เช่น พายุเตี้ยนหมู่ ไลอ้อนร็อก คมปาซุ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหลังจากได้รับความเสียหาย วงเงินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกู้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน