2บิ๊กโปรเจ็กต์-ไม่ง่าย – โครงการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่โครงการหนึ่งก็เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครคือ โครงการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย คลองเตย ที่มีการนำเสนอรูปแบบของการพัฒนาที่ดิน ประมาณ 2,353 ไร่ เป็นสมาร์ตพอร์ต จะใช้พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ นำมาเปิดให้เอกชนพัฒนารูปแบบร่วมลงทุน ประกอบด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์การแพทย์ โรงแรม สปอร์ตคอมเพล็กซ์ และท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่

อีกโครงการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด บริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะนำเสนอการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งมีขนาดที่ดิน 123 ไร่ โดยจะแบ่งพื้นที่การรถไฟออกเป็น 5 ส่วน เพื่อปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะ ปรับปรุงอาคารให้เป็นแนวทางอนุรักษ์กำหนดพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านค้าร้านอาหาร พัฒนากลุ่มอาคารมิกซ์ยูส โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าโดยจะเร่งปรับผังเมือง เรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมทุนอันมีผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการนี้

ทั้งสองโครงการข้างต้นเป็นโครงการพัฒนาเมืองที่มีผลต่อ การเปลี่ยนแปลง ทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยทำมาหากินทั้งหมด รวมด้านสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า พลังงาน การขนส่ง การเดินทาง ไปจนถึงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 2556

การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าว มีผลกระทบต่อกระบวนการจัดทำจัดวางผังเมืองรวมอย่างสูงหรือสูงมาก ไม่ว่าเปลี่ยนกฎกระทรวงผังเมืองรวมเป็นประกาศผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ข้อกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะต้องจัดทำเป็นแผนผังรายละเอียดชัดเจนทุกระบบ ไม่ว่าระบบระบายน้ำ คูคลอง การจราจร การคมนาคม พื้นที่สาธารณะทั้งหมด

หากจะปรับเปลี่ยนพื้นที่สีน้ำเงินเป็นพื้นที่ทางราชการให้เป็นสีแดงเพื่อการพาณิชยกรรม อาจดูแล้วไม่น่าจะยุ่งยากอะไร เพราะเพียงแต่ระบายสี-เปลี่ยนสีเท่านั้น

แต่ประเด็นปัญหาที่ติดอยู่ 2 ประการ คือข้อขัดแย้งระหว่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 กับ พ.ร.บ.การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (2530) ปรับปรุง 2564 เรื่องวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน

การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้พ.ร.บ.การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งสับสนซ้ำซากกันเข้ามาอีก ด้วยมีบทบัญญัติและคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้วว่า ที่ดินที่เวนคืนจากราษฎรนั้นจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น จะนำไปใช้ในทางอื่นมิได้

ปัญหาในการคิดจะพัฒนาที่ดินของรัฐวิสาหกิจทั้งสองนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นจริงในเร็ววัน เพราะต้องแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปก่อน ภาคเอกชนจึงจะเชื่อได้ว่า การจะเข้ามาร่วมลงทุนด้วยจะสะดวกปลอดภัย จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

และนี่คือความซับซ้อนทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมือง

เป็นตัวอย่างการใช้กฎหมายของส่วนราชการที่สร้างความสับสน ยุ่งยาก ตลอดมาในยุคของการพัฒนาประเทศ

นายช่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน