เอกชนหลังแอ่นแบกต้นทุนน้ำมันอ่วมส.อ.ท. เปิดผลสำรวจผู้บริหาร 87.5% มองราคาน้ำมันขึ้นส่งผลกระทบต้นทุนพุ่ง รายได้ลดลง กดดันราคาสินค้าแพง ผู้ประกอบการยอมรับแบกต้นทุนตรึงราคาสินค้าได้ไม่เกิน 3-4 เดือน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลสำรวจ ส.อ.ท.โพล ครั้งที่ 12 เดือนพ.ย.2564 หัวข้อ “สินค้าแพง ต้นทุนพุ่ง กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?” จากผู้บริหาร ส.อ.ท. 160 คน ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 จังหวัด พบว่าผู้บริหาร 87.5% มองว่าปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ามาจากราคาน้ำมันและพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น

ผู้บริหาร 61.9% ระบุว่าปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และ ค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า อีก 53.1% ระบุว่าเป็นความผันผวนของค่าเงินบาทและนโยบายด้านการเงินการคลัง และ 45% ระบุว่าเป็นเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบจาก ผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงัน

“ผู้บริหารส่วนใหญ่ 55.6% มองว่าราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 10-20% ผู้บริหารอีก 21.9% มองว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น 30-50% และอีก 15.6% มองว่ากระทบต้นทุนการผลิตต่ำกว่า 10% มีผู้บริหารเพียง 4.4% ที่มองว่ากระทบต้นทุนมากกว่า 50%”

โดยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ผู้บริหารส.อ.ท. 65.6% คาดการณ์แนวโน้มต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเทียบกับปัจจุบันจะเพิ่มขึ้น 10-20% อีก 17.5% คาดว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ส่วน 16.3% คาดว่าต้นทุนยังคงทรงตัว และ 0.6% คาดว่าต้นทุนลดลง 10-20%

นอกจากนี้ผู้บริหาร 44.4% มองว่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่ง ผลกระทบต่อรายได้ลดลง 10-20% ผู้บริหาร 26.3% รายได้ลดลงน้อยกว่า 10% ส่วน 15.6% รายได้ลดลง 30-50% และอีก 10.6% มองว่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบและพลังงานปรับตัวสูงไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ มีเพียง 3.1% รายได้ลดลง 10-20%

ผู้บริหาร 41.9% ประเมินว่าภาคอุตสาหกรรมสามารถแบกรับภาระต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่กระทบกับราคาสินค้าได้นาน 3-4 เดือน อีก 36.3% ระบุว่าแบกรับภาระได้นาน 1-2 เดือน ขณะที่ 18.1% เห็นว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าทันที และ 3.7% ระบุว่าแบกรับภาระต้นทุนได้น้อยกว่า 1 เดือน

ดังนั้นผู้บริหารส่วนใหญ่ 80.6% เสนอให้ภาครัฐควรมีมาตรการพยุงราคาพลังงาน, ตรึงราคาค่าไฟฟ้า และลดค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วน 67.5% เสนอให้ออกมาตรการทางภาษี เช่น ลดหย่อนภาษี, งดการหักภาษี ณ ที่จ่าย, ขยายระยะผ่อนชำระภาษีเงินได้, เร่งคืนภาษี อีก 56.9%

รวมทั้งลดค่าธรรมเนียม/ขั้นตอนในการส่งออกสินค้า และเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และ 46.3% เสนอให้รัฐสนับสนุนสินค้าผลิตในไทยผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน