‘เหรียญปู่ยิ้ม-ปู่เหรียญ-วัดหนองบัว’มงคลวัตถุยอดนิยมหายาก‘เหรียญทรงน้ำเต้าหลวงพ่อแม้น-วัดใหญ่โพหัก’ “ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นแต่เพียงเปลี่ยนอิริยาบถบริหารกาย เพื่อมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทรมานเกินไป เพราะฉะนั้น สมาธิจึงมิใช่เพียงการนั่งสมาธิอย่างเดียว” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ศิษย์เอกและสืบทอดวิทยาคมจาก “หลวงปู่ยิ้ม” เจ้าอาวาสรูปสำคัญ วัตถุมงคลที่นับว่าโดดเด่นและเป็นที่รู้จักคือ “เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่ยิ้ม-หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497 ซึ่งสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวตั้งใจปลุกเสกนานถึง 2-3 พรรษา

เหรียญรุ่นดังกล่าว นำออกแจกในงานฉลองอายุครบ 78 ปี และเป็นงานฉลองอุโบสถหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2497 สร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา มีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เขียนว่า “พระอุปัชฌาย์ยิ้ม จนฺทโชติ วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี” ด้านหลัง เป็นรูปจำลองเขียนว่า “พระโศภนสมาจาร หลวงพ่อเหรียญ” จัดเป็นเหรียญยอดนิยมของชาวเมืองกาญจน์

“หลวงพ่อแม้น ธัมมสโร” วัดใหญ่โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี พระเกจิอาจารย์ ที่มีชื่อเสียง วัตถุมงคล มากด้วยพุทธคุณและ ประสบการณ์ โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2494

ลักษณะเป็นเหรียญทรง น้ำเต้า แบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น ด้านหน้า มีรูปเหมือนครึ่งร่าง ห่มจีวร ลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ มะ อะ อุ มีข้อความภาษาไทยว่า พระครูธรรมสาทิส (แม้น) ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีข้อความภาษาไทยเขียนว่า วัดใหญ่โพหัก พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นอีกเหรียญที่พบเห็นได้ยาก








Advertisement

“หลวงปู่ศุข เกสโร” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ย้อนไปปี พ.ศ.2519 พระครูพิพัฒน์ชัยกิจ เจ้าอาวาสวัดศรีวิชัยวัฒนาราม อ.เมือง จ.ชัยนาท ได้จัดสร้างเหรียญหลวงปู่ศุขขึ้นมารุ่นหนึ่ง จำลองแบบจากเหรียญหลวงปู่ศุข รุ่นปี 2466

ลักษณะเป็นเหรียญทรงรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญมีขอบรอบ ตรงกลางเป็นรูปนูนหลวง ปู่ศุขนั่งเต็มองค์ ใต้ขอบบนมีอักษรไทย “พระครูวิมลคุณากร วัดปากคลองมะขามเฒ่า” ด้านล่างเป็นรูปโบ ภายในมีเลขไทย “๒๕๑๙” ส่วนด้านหลังเหรียญ มีขอบรอบ 2 ชั้น ระหว่างขอบมีจุดไข่ปลารอบเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปยันต์พัด กำกับด้วยอักขระขอม ปัจจุบันเช่าบูชาติดลมบนไปแล้ว

“หลวงปู่บุญมี อัตตรักโข” หรือ พระครูนิพัทธปริยัติกิจ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดวาปีรัตนาราม ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นคร สวรรค์ วันที่ 20 มี.ค.2553 คณะศิษยานุศิษย์และคณะกรรมการวัดจัดสร้าง “เหรียญเสาร์ห้าหลวงปู่บุญมี” จำนวน 10,000 เหรียญ เป็นเหรียญรูปไข่ เนื้อทองแดงชุบนิกเกิล หารายได้สมทบทุนบูรณะอาคารเรียนพระปริยัติธรรม

ด้านหน้าเหรียญ เป็นเหรียญมีขอบและหูห่วงในตัว ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูนหลวงปู่บุญมีนั่งสมาธิ ด้านขวาขององค์พระ เขียนว่า “เสาร์ ๕ ปี ๕๓” ด้านซ้ายขององค์พระ เขียนคำว่า “อายุ ๘๒ ปี” ส่วนด้านล่างเขียนคำว่า “หลวงพ่อพระครูมี” ด้านหลังเหรียญมีขอบรอบ ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์ห้า มีอักขระขอม กำกับด้วยยันต์อุณาโลม 3 ยอด ใต้ขอบเหรียญด้านบนมีตัวหนังสือไทย เขียนว่า “พุทโธ พุทธะ มหาลาภัง สรณัง คัจฉามิ” ด้านล่างของยันต์เขียนว่า “วัดวาปีรัตนาราม” จัดเป็นเหรียญยอดนิยมอีกเหรียญหนึ่งของนครสวรรค์

วัดศรีดอนชัย” ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นวัดแรกของเมืองปาย สร้างในปีพุทธศักราช 1855 โดยมีพระพุทธสิหิงค์ หรือชาวบ้านเรียกว่า พระสิงห์ปาย เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปาย พระสิงห์ปาย เป็นพระพุทธรูปศิลปะยุคเชียงแสน สิงห์หนึ่งยุคแรก พระพักตร์ แช่มชื่นอิ่มเอิบ มีพระวรกายอวบอ้วน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวปายมาตั้งแต่โบราณกาล ทุกปีจะอาราธนาจัดเป็นขบวนแห่ออกสรงน้ำตามหมู่บ้านชุมชน

เมื่อปี 2554 วัดศรีดอนชัย จัดสร้างวัตถุมงคลพระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์ปาย) รุ่นแรก จำลอง ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ จำนวนสร้าง 156 องค์ (มีหมายเลขกำกับ) เพื่อนำปัจจัย สร้างวิหารศิลปะล้านนา ประกอบพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ย.2553 ในองค์พระบรรจุวัตถุมงคลจากวัดดังๆ หลายแห่งในภาคเหนือ รุ่นแรกนี้ จัดสร้างเป็นจำนวนน้อย

“เหรียญ เจ้าสัว” หรือ “เหรียญหล่อพิมพ์เจ้าสัว” ที่เป็นต้นตำรับของแท้และดั้งเดิม คือ “เหรียญเจ้าสัวหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม” พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองนครปฐม สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี 2475 เมื่อคราวทำบุญอายุหลวงปู่บุญ ครบ 7 รอบ 84 ปี โดยพระวินัยกิจโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เป็นผู้จัดสร้างถวาย หลังจากหล่อเป็นพระเสร็จ หลวงปู่บุญได้อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว

มีพุทธลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ หูเชื่อม จัดสร้างเนื้อเงินและเนื้อทองแดง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิเพชร บนอาสนะฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านข้างมีกรอบซุ้มเรือนแก้ว 2 เส้นขนานกัน ด้านหลังเหรียญเรียบ ไม่มีอักขระเลขยันต์ หรือตัวหนังสือใดๆ แต่มีรอยตะไบ ที่ตกแต่งพิมพ์ให้เรียบร้อย พุทธคุณเหรียญเจ้าสัว เชื่อกันว่าผู้ที่ห้อยบูชาเหรียญเจ้าสัวแล้วทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะเจริญรุ่งเรืองร่ำรวยทุกคน ปัจจุบันมีสนนราคาสูงมาก

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน