รากฐานแนวทาง ชนบท ล้อมเมือง(39) – หลายปีต่อมา ตู้ซิวจิง ซึ่งย่างเข้าวัยไม้ใกล้ฝั่งแล้วเมื่อพูดถึงเรื่องราวในอดีต จิตใจก็เต็มไปด้วยความหนักอึ้ง เขายอมรับว่า “ในขณะที่ชัยชนะของการปฏิวัติกำลังพัฒนาไป ผมกลับเป็นคนทำลายภารกิจนี้”

ก่อให้เกิด “ความพ่ายแพ้เดือนสิงหาคม”

ทำให้กองทัพแดงที่เพิ่งเติบโตต้องเสียหายไปครึ่งหนึ่ง เขตแดนต่อแดนไม่มีเหลือ คนที่ถูกฆ่า บ้านที่ถูกเผาไม่อาจจะนับได้ถ้วน เกือบจะทำลายรากเหง้าของการปฏิวัติจีนไปทั้งหมด

ในทุกวันนี้ที่ผ่านไปกึ่งศตวรรษแล้ว

ท่ามกลางเพลงชัยแห่งสงครามปฏิวัติของประชาชนจีน เมื่อย้อนไปรำถึกถึงความเป็นไปของ “ความพ่ายแพ้เดือนสิงหาคม” ในใจผมยังเต็มไปด้วยความหม่นหมอง กินไม่ได้นอนไม่หลับ”

บุญศักดิ์ แสงระวี ระบุ บทเรียนของ “ความพ่ายแพ้เดือนสิงหาคม” หนักหน่วงเป็น อย่างยิ่ง

เหมาครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องนี้ เลนินเคยพูดไว้ว่า “ไม่มีทฤษฎีการปฏิวัติก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวปฏิวัติ” การเคลื่อนไหวปฏิวัติที่ถูกต้องจะต้องดำเนินไปภายใต้การชี้นำของทฤษฎีที่ถูกต้อง

ถามว่าสภาพการณ์ที่เหมาเผชิญอยู่เป็นอย่างไร

ในเวลานั้น คอมมิวนิสต์สากลชี้นำการปฏิวัติของประเทศจีนตามแม่แบบการปฏิวัติรัสเซียที่ถือเมืองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจสร้างฐานที่มั่นในชนบท

ศูนย์กลางพรรคถือคำชี้แนะของคอมมิวนิสต์สากลประดุจคำบัญชาของสวรรค์

โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของประเทศจีน ก่อการลุกขึ้นสู้โดยถือเมืองเป็นศูนย์กลางครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งก็พ่ายแพ้ยับเยิน สูญเสียกำลังไปโดยเปล่าประโยชน์

แต่ก็ยังคงไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

การหลั่งเลือดเสียสละอย่างไร้ประโยชน์ทำให้เหมาปวดร้าวเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน ก็พอจะเห็นและพบทางเดินในการปฏิบัติที่เป็นจริงในระดับหนึ่งแล้ว

ประเด็นอยู่ที่ว่าจะให้การอธิบายทางทฤษฎีต่อหนทางที่ดำเนินอยู่บนเขาจิ่งกังซานไห้ชัดเจนอย่างไร

เหมาก้าวออกมายืนอย่างกล้าหาญใช้หลักทฤษฎีพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน วิเคราะห์และให้คำอธิบายต่อปัญหาการปฏิวัติประเทศจีนว่าควรจะเดินทางไหน

ตามสภาพลักษณะพิเศษแห่งความแตกต่างระหว่างจีนกับประเทศต่างๆทางยุโรป

ก่อนอื่นเหมาให้คำตอบแก่ปัญหาฐานที่มั่นการปฏิวัติในชนบทประเทศจีนและกองทัพแดงของจีนจะดำรงอยู่และพัฒนาไปได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นก็เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1928

ในการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคครั้งที่ 1 ของเขตแดนต่อแดนหูหนานและเจียงซี เหมาให้คำตอบแก่ปัญหานี้เป็นครั้งแรก ต่อมาในการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคครั้งที่ 2 ของเขตแดนต่อแดนหูหนาน เจียงซี

เหมาเขียนบทความ “เหตุใดอำนาจรัฐแดงของจีนจึงดำรงอยู่ได้”

บ่งชี้อนาคตของการปฏิวัติจีนอันรุ่งโรจน์ที่หอแปดเหลี่ยมในเหมาผิง เดือนพฤศจิกายนก็เขียนรายงานเรื่อง “การต่อสู้ที่เขาจิ่งกังซาน” เสนอแก่ “ศูนย์กลางพรรค”

บทความ 2 บทนี้ใช้หลักทฤษฎีพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน

วิเคราะห์สภาวการณ์ของประเทศจีนอย่างเป็นรูปธรรม สรุปความจัดเจนในการปฏิบัติการต่อสู้บนเขาจิ่งกังซานปีเศษมานี้ ให้คำตอบแก่ปัญหากองทัพแดงของจีนและฐานที่มั่นปฏิวัติ

ทั้ง 2 บทความเป็นทฤษฎีอำนาจรัฐสีแดงที่โด่งดังของเหมาซึ่งไม่เคยมีใครเสนอมาก่อน

ทฤษฎีอำนาจรัฐสีแดงได้ก่อตัวเป็นเงื่อนไขมูลฐานทางทฤษฎีให้กับทฤษฎีใหม่แห่งหนทาง “ชนบทล้อมเมือง” ที่เหมาสร้างสรรค์ขึ้นในภายหลัง

ในเมื่อจะดำเนิน “ชนบทล้อมเมือง”

ก่อนอื่นก็จะต้อง “สนใจก่อตั้งรากฐานที่แข็งแกร่งแน่นหนาในอาณาเขตใจกลาง” ซึ่งก็คือจะต้องก่อตั้งฐานที่มั่นปฏิวัติในชนบทที่มั่นคงพอสมควรขึ้นก่อน

“เพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่ตนสามารถยืนอยู่ได้ไม่พ่ายแพ้”

เพื่อตระเตรียมป้องกันความสยดสยองสีขาว เมื่อเกิดขึ้นก็ไม่กระทบกระเทือน ไม่ประหวั่นพรั่นพรึง และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำให้การปฏิวัติมีแนวรบพื้นฐานที่อาศัยดำรงอยู่ได้

เพื่อพัฒนาก้าวหน้าต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน