ก๊กมินตั๋ง รุกกระหน่ำ จิ่งกังซาน(41) – เดือนธันวาคม 1928 เผิงเต้อไหวกับเผิงต้าหยวนนำกองทัพแดงที่ 5 กำลังพล 800 กว่า มาสมทบบนฐานที่มั่นปฏิวัติเขาจิ่งซาน เผิงเต้อไหวเขียนถึงความรู้สึกในตอนนั้นออกมาว่า

“ในเวลานั้น ในส่วนความรับรู้ของผม

เหตุใดจึงต้องถือเขาจิ่งกังซานเป็นธงเป็นตัวอย่างเล่า เพราะธงผืนนี้มันเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม เป็นความเป็นจริง ไม่ใช่ความว่างเปล่า

การลุกขึ้นสู้ที่หนานซาง การลุกขึ้นสู้ในการเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วง แพ้หมด

เหลืออยู่แต่กำลังเพียงน้อยนิด ก็มารวมตัวกันอยู่ที่เขาจิ่งกังซาน ก่อตัวขึ้นเป็นกองทัพแดงของ”จู-เหมา” กลายเป็นธงชัยของกองทัพแดง มิใช่แต่จะมีพลังแห่งการเรียกร้องปลุกเร้า

แต่กลายเป็นจอมทัพของกองทัพแดงในการพัฒนาต่อไป ทำให้ทั่วทั้งกองทัพแดงมีหัวหน้า

ในปัญหาการโจมตีเจ้าพ่อจอมอิทธิพลคนเลวท้องถิ่น แบ่งที่ไร่ที่นา สร้างฐานที่มั่น ในปัญหานี้แหละที่ทำให้ผมเกิดความยกย่อง นับถือ ต่อเหมายุ่นจือ”

ผลอันตามมากับเผิงเต้อไหวก็คือการล้อมปราบครั้งใหญ่

หนังสือ”ยุทธศิลป์ เหมาเจ๋อคง”ระบุว่ากํกมินตั๋งใช้กำลัง 6 กองพลน้อย 3 หมื่นกว่าคนบุกเข้าจิ่งกังซาน 5 ทาง คณะกรรมการต่างๆที่เกี่ยวข้องเปิดการประชุมร่วม

ผ่านมติที่เหมาเสนอว่า “ดำเนินการป้องกันด้วยการโจมตี”

กำหนดให้เผิงเต้อไหวกับเถิงไต้หย่วนนำกำลังส่วนหนึ่งอยู่รักษาเขาจิ่งซาน ส่วนเหมา จูเต๋อ เฉินอี้ นำกำลังหลัก 3,600 คน ออกตีไปทางภาคใต้ของเจียงซี

ด้านหนึ่ง เพื่อแสวงหาค่าใช้จ่าย แก้ปัญหาการส่งกำลังบำรุง

อีกด้านหนึ่ง เมื่อข้าศึกเปิดฉากบุกจิ่งกังซานก็เข้าตีกั้นโจวหรือจี้อัน บีบบังตับใก้ดำลังก๊กมินตั๋ง 2 มณฑลที่เข้ามา”ร่วมปราบ” ต้องแยกกำลังมาช่วย ประสานกับกองกำลังบนเขาจิ่งกังซาน

ทำลายการ”ร่วมปราบ”ครั้งที่ 3 นี้

เข็มมุ่งการจัดกำลังเช่นนี้ก็คือการดำเนินการตามแผน”ล้อมเมืองเว่ย ช่วยเมืองจ้าว” ซึ่งนักการทหารรุ่นโบราณนิยมใช้กันอยู่เสมอ

เจียงซีมีเงื่อนไขที่อำนวยความสะดวกให้กับการพัฒนาของกองทัพแดงที่ 4 เป็นอย่างยิ่ง

ดังเช่นมีเทือกเขาติดกันยาวเหยียดเป็นพืด เป็นป่าดงพงทึบ โภคทรัพย์อุดมสมบูรณ์ เชื่อมต่อกับภาคตะวันตกของมณฑลฮกเกี้ยนและภาคเหนือของมณฑลกวางตุ้ง

มีทางหนีทีไล่ดี เหมาะแก่การพัฒนาสงครามจรยุทธ์

พื้นฐานการจัดตั้งพรรคและมวลชนค่อนข้างดี มีกองทัพแดงกรมอิสระที่ 2 และที่ 4 นำโดยหลี่เหวินหลินอยู่ มีการจัดตั้งสภาโซเวียตลับๆอยู่ในละแวกนี้

ทหารปฏิกิริยาที่ประจำอยู่อ่อนแอ พลังสู้รบไม่เข้มแข็ง

ซ้ำยังเป็นทหารต่างมณฑล ความสัมพันธ์กับเจ้าที่ดินและคหบดีเลวร้ายท้องถิ่นไม่แน่นแฟ้นนัก ห่างเมืองใหญ่ไกล การคมนาคมไม่สะดวก

ข้าศึกไปมา รวมพลลำบาก

เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาสงครามจรยุทธ์และสร้างฐานที่มั่นใหม่ เสริมความแข็งแกร่งให้กับกองทัพและการต้านการล้อมปราบทั้งสิ้น

กระนั้น ทุกอย่างก็ใช่ว่าจะราบรื่นเสียทีเดียว

กองทัพแดงที่ 4 เมื่อลงจากเขาจิ่งกังซานในขั้นต้นต้องเผชิญกับความลำบากอย่างใหญ่หลวง เกือบจะตกอยู่ในอันตรายหลายครั้งเพราะห่างจากฐานที่มั่นเดิม

และถูกข้าศึกไล่ตามตีอยู่มิได้ขาด

มาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1929 หลังจากได้โอกาสวางแผนซุ่มตีกองพลน้อยของหลิวซื่ออี้ที่ต้าป๋อตี้ในอำเภอยุ่ยจินของเจียงซีใต้ได้รับชัยชนะ

ทำลายข้าศึกไปได้ถึง 1,500 คนแล้ว

จึงได้เปลี่ยนฐานะจากที่กองทัพแดงที่ 4 เป็นฝ่ายถูกกระทำ กลับกลายเป็นฝ่ายรุก กองอื่นๆของก๊กมินตั๋งต่างรีบถอนตัวหนี เหมานำกองทัพแดงบุกขึ้นไปทางเหนือถึงตงกู้

บรรจบทัพกังกรมอิสระของหลี่เหวินหลินก็เริ่มตั้งหลักในเจียงซีใต้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน