เอกภาพ การเมือง กับ การทหาร(42) – กองทัพแดงที่ 4 ได้สำรวจค้นคว้า วิเคราะห์สภาพความเป็นจริงโดยรอบ ออกรบอย่างพลิกแพลง ได้รับชัยชนะหลายครั้งจากการจู่โจม “เข้าปราบ” และ“ร่วมปราบ” ของก๊กมินตั๋ง

แต่สถานการณ์ทางด้านจิ่งกังซานเป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง

ก๊กมินตั๋งใช้กำลังหลายเท่าตัวโหมกระหน่ำจนสามารถยึดเขาจิ่งกังซานไว้ได้ เผิงเต้อไหวต้านไม่อยู่ต้องนำกองทัพแดงที่ 5 แหวกวงล้อม หลบหลีกมาสมทบกับเหมาที่ยุ่ยจินฐานที่มั่นใหม่

หลังจากนั้นก็ร่วมกันออกรบขยายฐานที่มั่นให้กว้างขวางออกไปทางฮกเกี้ยนตะวันตก

พร้อมทั้งก่อตั้งสภาโซเวียต ผู้แทนกรรมกรชาวนาขึ้นที่เจียงซีใต้และฮกเกี้ยนตะวันตกในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 1929

เป็นการวางรากฐานให้กับฐานที่มั่นปฏิวัติส่วนกลางในภายหลัง

แต่ในห้วงเวลาเหล่านี้ ภายในพรรค ภายในกองทัพแดงและในหมู่ผู้นำการทหารยังได้รับผลสะเทือนของกองทัพชนชั้นปกครองอยู่

เห็นว่ากองทหารมีหน้าที่รบอย่างเดียว อย่างอื่นไม่เกี่ยว

สภาพการณ์เช่นนี้นำไปสู่ทัศนะที่ไม่ตรงกันหลายอย่าง โดยเฉพาะในการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคครั้งที่ 7 ของกองทัพแดงที่ 4 มีการโต้แย้งกันอย่างรุนแรงว่าจะเอาคณะกรรมการพรรคให้คงอยู่ในกองทหารต่อไปหรือไม่

บุญศักดิ์ แสงระวี ยกเอาการฟื้นเรื่องเก่าของเจียงหวา เลขานุการของกองการเมืองกองทัพที่ 4 ในขณะนั้น มาอ้างอิงโดยเจียงหวาระบุว่า

“ปัญหาการโต้แย้งกันเรื่องจะคงคณะกรรมการพรรคไว้ในกองทัพหรือไม่

แม้จะได้มีมติให้คงไว้แล้วก็ตาม แต่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับกองทหารซึ่งเป็นภูมิหลังของประเด็นนี้ยังมิได้แก้ไขให้ตกไปโดยสิ้นเชิง

การโต้แย้งกันครั้งนี้ กลับทำให้ทัศนะเอาแต่การทหาร

ความคิดเสือจร ประชาธิปไตยเฟ้อ เศษเดนลัทธิขุนศึก เป็นต้น ซึ่งมิใช่เป็นความคิดของชนชั้นกรรมาชีพ กลับโงหัวระบาดออกไป”

เมื่อสถานการณ์เกิดอุณหภูมิที่แปรเปลี่ยนก็หวนกลับมาคึกคัก

การโต้แย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะทหารของกองทัพแดงมาจากชาวนาและทหารเก่า การเปลี่ยนทัศนะของพวกเขาให้ถูกต้องจำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการที่แน่นอนหนึ่งเหมาเคยเขียนรายงานให้แก่ “ศูนย์กลางพรรค”ว่า

“พรรคในอำเภอต่างๆ ทางเขตแดนต่อแดนประกอบขึ้นจากสมาชิกพรรคที่เป็นชาวนาเกือบทั้งนั้น ถ้าไม่นำด้วยความคิดชนชั้นกรรมาชีพแล้วก็มีความโน้มเอียงที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้”

และเนื่องจากความสับสนในทางความคิดนี้เอง

ระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ในกองทัพแดงที่เหมาเสนอและปฏิบัติก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ลัทธิพ่อบ้าน” ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 7 นี้เหมาไม่ได้รับเลือกให้รับผิดชอบในกองทัพแดง

ต้องพ้นจากหน้าที่เลขาธิการพรรคของกองทัพไป

ผลที่เกิดขึ้นก็กลับกลายเป็นว่า หลังจากนั้น กองทัพแดงรบที่ไหนก็แพ้ที่นั่น จึงชักนำให้สหายในกองทัพเกิดความสำนึกขึ้นว่า “กองทัพแดงจะขาดการนำของเหมา”ไม่ได้

เหมาจึงได้กลับเข้ามารับหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการทหารสู้ศึกส่วนหน้าดังเดิม

ด้วยตระหนักในอนุศาสน์ของซุนวูที่ว่าด้วยคุณธรรมที่ว่า “ที่ว่าคุณธรรมนั้นก็คือสิ่งที่ทำให้ทวยราษฎร์และเบื้องบนมีเจตนาร่วมกัน ร่วมเป็นก็ได้ ร่วมตายก็ได้ทวยราษฎร์มิหวั่นอันตราย”

กองทัพที่คิดกันคนละอย่าง ทำกันคนละทาง ย่อมไม่สามารถรบกับใครได้

ฉะนั้น เหมากับคณะกรรมการพรรคจึงเรียกประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคของกองทัพแดงที่ 4 ครั้งที่ 9 ขึ้นในเดือนธันวาคม 1929 ที่ตำบลกู่เถียน อำเภอซ่างหัง มณฑลฮกเกี้ยน

เพื่อแก้ปัญหาความคิดสับสนที่มีอยู่และหนักหน่วงยิ่งขึ้นทุกวันในกองทัพ

กระบวนการที่เหมาประสบมาเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมานำเอาสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับสงครามหรือการทหารขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง และมีความเห็นว่า ถ้าการเมืองมีปัญหา การทหารก็ต้องได้รับผลกระทบ

ในทางกลับกัน ถ้าการทหารมีปัญหาก็จะส่งผลกระทบต่อการเมืองเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน