ถอนทัพ ออกจาก จิ่งกังซาน (46) – จากการประมวลของ ทวีป วรดิลก จากนั้น กองทัพแดงของเหมาก็เข้ายึดเมือง หนิงตูซึ่งอยู่ในภาคกลางของมณฑลเจียงซี มีการยึดทรัพย์และอาหารจากเจ้าที่ดิน

กองทัพแดงอยู่ที่หนิงตูเป็นเวลา 3 วัน

มีการปลดปล่อยนักโทษออกจากคุก เรียกประชุมประชาชนเพื่อให้การศึกษาทาง การเมือง แล้วจึงเดินทัพต่อไปยังเมืองตุงกูซึ่งเจิงซาน ผู้บัญชาการทหารคอมมิวนิสต์ ยึดครองอยู่แต่เดิม

ได้พาทหารบาดเจ็บมาพักรักษาตัว

จากนั้นก็เข้ายึดเมืองซิงกว๋ออันเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ เจ้าที่ดินก็ร่ำรวยอย่างมหาศาลแล้วมุ่งไปยึดเมืองจางติ่ง(ติ่งเซา) ที่เป็นเมืองอยู่ติดกับชายแดนมณฑลฟู่เจี้ยน

เหมายังใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรอยู่เหมือนเดิม

นั่นก็คือ เอากำลังส่วนน้อยเข้าล่อให้ทหารส่วนใหญ่ของก๊กมินตั๋งยกออกจากตัวเมืองแล้วจู่โจมเข้ายึดเมืองโดยกะทันหัน

จับได้ตัวแม่ทัพและยึดกระสุนดินดำได้เป็นจำนวนมาก

ที่เมืองจางติ่งเหมาจัดตั้งกองทัพขึ้นใหม่ จากเดิมที่แบ่งเป็น 4 กรมก็แบ่งใหม่ออกเป็น 3 กระบวนทัพ และจากที่จางติ่งนี้เองที่เหมาทราบเรื่องการประชุมสมัชชาสมัยที่ 6 ของพรรค

ขณะเดียวกัน เผิงเต๊อะไหวก็ส่งข่าวมาจากจิ่งกังซาน

ถูกทัพก๊กมินตั๋งทุ่มกำลังเข้าโจมตีอย่างหนักจนต้องถอนตัวออกจากฐานที่มั่น จิ่งกังซาน และกำลังเคลื่อนทัพมุ่งมายังรุ่ยจิน

เหมากับจูเต๋อจึงออกจากจางติ่ง ผ่านยิโถวและเสียงอิง

เหมาได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิวัติและองค์การมหาชนต่างๆ ขึ้นระหว่างเดินทัพ ทุกๆท้องที่ที่เหมาตั้งค่ายพักจะต้องมีการชุมนุมอภิปราย ชี้แจงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีแก่ทหาร

และก็ให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นไปด้วย

ในเดือนมีนาคมเหมาก็ยกทัพไปถึงเมืองต้าป๋อตี้ ได้มีการฉลองชัยชนะกันและเหมาก็จ่ายเงินให้แก่ทหารในกองทัพที่ยกมาครั้งแรกด้วยความยากลำบากในอัตราคนละ 3 เหรียญ

เงินจำนวนนี้ได้มาจากพ่อค้าที่มั่งคั่งในเมืองหนิงตู รวบรวมมาได้ทั้งสิ้น 5,000 เหรียญ

จากนั้นเหมาจึงได้เคลื่อนทัพมารุ่ยจินในเดือนเมษายนและได้พบกองทัพของเผิงเต๊อะไหวที่มารออยู่แล้ว รุ่ยจินจึงได้กลายมาเป็นเมืองหลวงของฐานที่มั่นแห่งใหม่

มีชื่อว่า “ฐานที่มั่นกลาง” หรือ “บริเวณพรมแดนเจียงซี-ฟุเจี้ยน”

ปรากฏว่า ฐานที่มั่นแห่งนี้สมบูรณ์กว่าฐานที่มั่นจิ่งกังซานมาก มีเหมืองแร่ทังสเตน ซึ่งทำรายได้ดี และที่ดินตามท้องที่ต่างๆ ก็เหมาะแก่การเพาะปลูก

ทหารที่เคยเป็นคนงานจากเหมืองแร่อันหยวนและผิงเจียงเดิมก็ได้กลายมาเป็นทหารช่าง

มีการสร้างโรงงานทำอาวุธ โรงพยาบาลและโรงเรียนขึ้น พื้นฐานของการจัดตั้งฐานที่มั่นแห่งนี้คงเป็นไปตามหลักการเดิมที่เหมาวางไว้ คือ ขึ้นอยู่กับความสนับสนุนของชาวนา

ต่อมา จึงมีการปฏิรูปที่ดิน

แล้วเหมาก็ได้รวบรวมหน่วยจรยุทธ์ซึ่แต่เดิมกระจัดกระจายกันปฏิบัติการเข้ามาเป็น กองทัพโดยจัดตั้งขึ้นมาเป็นกองทัพแดงที่ 3 ส่วนกำลังของเหมาที่ตั้งต้นจาก 4,000 คนเมื่อแรกเคลื่อนออกจากจิ่งกังซาน

ในตอนนี้มีกำลังถึง 10,000 เศษ

ณ รุ่ยจินนี้เองที่เหมาได้รับหนังสือจากหลี่ลี่ซานฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1929 จากการที่ต้องถอนกำลังออกมาจากจิ่งกังซานทำให้หลี่ลี่ซานมองการณ์ในแง่ร้ายและก็หวาดระแวงอยู่แต่ว่า

ถ้าชาวนาได้เป็นผู้นำพรรคจะเกิดความเสียหายแก่การนำของชนชั้นกรรมาชีพ

คือจะทำลายการปฏิวัติลงไป หลี่จึงแนะนำให้เหมากับจูเต๋อสลายกำลังออกเป็น หน่วยจรยุทธ์ย่อยๆ ให้หมด เพื่อจะได้รักษากำลังเอาไว้และดำเนินการปลุกระดมมวลชนออกไป

หนังสือนี้เหมาตอบไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน ไม่เห็นด้วยกับหลี่ลี่ซานอย่างสิ้นเชิง

เด่นชัดว่านับแต่ล้มเหลวจากสถานการณ์การลุกขึ้นสู้ในฤดูเก็บเกี่ยวที่เมืองฉางซาเป็นต้นมากระทั่งถอยร่นมาปักหลักจัดตั้งกองกำลังปฏิวัติที่เขาจิ่งกังซาน

เหมากับ “ศูนย์การนำ” ต่อสู้ในทางความคิดมาอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน