ทิศทาง‘กัญชา-กระท่อม’ ปี65 อนาคตสดใสแค่ไหน – “เช้าท่อม เย็นชา” หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ผู้รู้ในวงการกัญชา-กระท่อม อธิบายว่า “ตามสูตรแล้ว ตอนเช้าต้องเคี้ยวใบกระท่อมเพื่อให้มีเรี่ยวแรงทำงานทั้งวัน ส่วนตอนเย็นต้องกินอะไรที่มีส่วนผสมของกัญชา จะได้นอนหลับสบาย”

ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือก หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโกโก้ผสมกัญชา กาแฟผสมกัญชา ชาใบกัญชา และเมนูอาหารสารพัดที่มีส่วนผสมของใบกัญชา รวมทั้งเครื่องดื่ม อีกหลายชนิดที่นำกัญชามาเป็นส่วนผสม เพื่อดึงดูดลูกค้า โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่-รายกลาง และรายเล็ก เข้าร่วมธุรกิจนี้กันอย่างคึกคัก

ส่วนใบกระท่อมหาซื้อได้ทั่วไป ทั้งข้างทาง หรือตามตลาดนัด ในราคาไม่แพง และยิ่งถูกลงเรื่อยๆ แต่ก่อนช่วงแรกหลังปลดล็อกกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ใบกระท่อมไม่กี่สิบใบราคาสูงถึง 100 บาท ตอนนี้ขายกันแค่ 50 บาท หรือถูกกว่านั้นก็มี เช่นเดียวกับต้นกระท่อมที่มีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก

วันนี้เห็นชัดเจนว่ามีผู้นำกัญชาไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคเต็มไปหมด เพราะกฎหมายเปิด ขณะที่กระท่อมยังไม่สามารถนำมาแปรรูปในเชิงธุรกิจได้ แม้จะมีการปลดล็อกแล้วก็ตาม เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎระเบียบขององค์การอาหารและยา (อย.)

ถ้าพูดถึงกัญชา ผู้คนต่างให้เครดิต ‘นายอนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ผู้ผลักดันให้กัญชาได้เกิด ล่าสุดไปเป็นประธานเปิดงานคิกออฟ กัญชาริมฝั่งโขงนำร่องนครพนมโมเดล เมืองแห่งกัญชาคุณภาพ ที่ถนนสวรรค์ชายโขง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม พร้อมประกาศว่า รัฐบาลแก้กฎหมายเป็นที่เรียบร้อย โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในกฎหมายฉบับใหม่นี้ไม่มีกัญชาและกัญชงเป็นพืชที่ผิดกฎหมายแล้ว เป็นการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด 100 เปอร์เซ็นต์

เดิมปลูกขายได้แค่ ใบ ลำต้น ยกเว้นช่อดอก แต่จากนี้ไปทั้งลำต้นขายได้ ไม่ผิดกฎหมาย และปลูกได้ทุกครัวเรือนไม่จำกัด เพียงขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อนปลูก และลดขั้นตอนไม่ยุ่งยากอีกต่อไป จะเกิดผลดีต่อเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ทำให้มีรายได้มากขึ้น เป็นเกษตรทางเลือก และทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคได้มากขึ้น

ปัจจุบันโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งมีคลินิกกัญชา และหลังจาก นี้ยาที่ผลิตออกมาจากสารสกัดกัญชาจะนำมาใช้อย่างถูกต้อง อยู่ในบัญชียาหลักให้ประชาชนเข้าถึง ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลด้วย

“สธ.มีนโยบายส่งเสริมพืชสมุนไพรทั้งกัญชา กัญชง และกระท่อม โดยให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ คิดค้นนโยบายเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างงานอาชีพให้ประชาชนทั้งในฐานะผู้ปลูก ผู้ผลิตสินค้า สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และการแพทย์ทางเลือกในการรักษาโรค นอกจากนี้ได้ให้นโยบาย อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักดูแลการอนุญาตปลูก รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา ให้อำนวยความสะดวกกับประชาชนที่มาขออนุญาตอย่างเต็มที่”

สำหรับกัญชา ในอดีตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ที่มีสารสำคัญ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เช่น เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) และแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) แต่เตตราไฮโดรแคนนาบินอลเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง และทำให้เกิดการเสพติด

ด้าน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า การปลดล็อกในส่วนของต้น ราก ดอก ใบ ของกัญชา ให้ขายได้นั้นถือว่ามีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เกษตรกรอยากได้เพิ่มเติม คือขั้นตอนการขออนุญาตที่ง่าย โดยอาจถ่ายโอน ท้องถิ่นในบางระดับ และต้องเร่งส่งเสริมให้มีการวิจัยสายพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่ การขอปลูกยังไม่เป็นแบบ One Stop Service ต้องขออนุญาตหลายขั้นตอนและต้องติดต่อกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ควรให้จบที่สธ.กระทรวงเดียวเท่านั้น จะได้ง่ายขึ้น”

ด้านผู้ประกอบการ นายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD ให้ข้อมูลว่า บริษัทได้ใบอนุญาตจากอย. ในการสกัดสาร CBD จากต้นกัญชง สามารถผลิตได้ในเดือนม.ค. ปี 2565 โดยมีโรงงานสกัดอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ใช้งบประมาณหลักร้อยล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทสยาม เฮอเบิล เทค จำกัด (SHT) บริษัทย่อยของ DOD ที่ทำธุรกิจโรงสกัดสารสกัดจากกัญชง-กัญชา พืชกระท่อม และพืชสมุนไพรไทย ซึ่งเซ็นสัญญาพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท MFUSED Group ผู้นำด้านการสกัดและวิจัยพัฒนากัญชง-กัญชา รายใหญ่ที่สุดในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำสมุนไพรไทยที่ผ่านการสกัดไปจำหน่ายทั่วโลก

ส่วน นายโจนาธาน วัฒน์สุขสันติ กรรมการ บริษัท MFUSED Group เอเชียแปซิฟิก ให้ข้อมูลว่า สารสกัดจากกัญชง-กัญชา รวมถึงพืชสมุนไพรทางการแพทย์ และเพื่อสุขภาพ มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในตลาดโลก ขณะที่ตลาดในไทยคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 20,000 ล้านบาท ส่วนตลาดในภูมิภาคมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท

ดังนั้น MFUSED Group และ DOD จึงได้ร่วมกันสร้างฐานการปลูก การสกัด การผลิต และการจำหน่าย ให้ไทยเป็น HUB ด้านการส่งออกไปยังตลาดโลก ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพราะไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ ทั้งในเรื่องพื้นที่ภูมิอากาศ และต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า

นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่เข้าสู่ธุรกิจการนำสารสกัดจากกัญชง-กัญชา รวมถึงพืชสมุนไพรทางการแพทย์ และเพื่อสุขภาพ มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำยา อาหารเสริมและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล

สำหรับกระท่อมนั้น ต้องให้เครดิต นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่ผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น กระทั่งสามารถปลดล็อกให้ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยประชาชนสามารถปลูก ครอบครอง สามารถซื้อ ขาย หรือนำกระท่อมมาบดเคี้ยวได้ ยกเว้นยังไม่อนุญาตให้แปรรูปในเชิงธุรกิจ

นายสมศักดิ์ระบุว่า ก่อนหน้ากฎหมายปลดล็อกกระท่อมมีผล มีการขึ้นทะเบียนไว้ 135 หมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 300 คน ซึ่งปลูกได้ 3 ต้นต่อคน เท่ากับมีต้นกระท่อมขึ้นทะเบียนไว้ 124,500 ต้นทั่วประเทศ หรือราว 5,000 ไร่ หากเทียบจำนวนต้นกระท่อมที่ปลูกได้ 25 ต้นต่อไร่ เชื่อว่ามีชาวบ้านปลูกและไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกเท่าตัว หมายถึง มีพื้นที่ปลูกกระท่อมทั่วประเทศ 10,000 ไร่ และถ้ารวมตลอดปี สามารถเก็บผลผลิตกระท่อมสด 216 ก.ก.ต่อต้น พื้นที่ 1 ไร่ มี 25 ต้น รวมผลผลิต 5,400 ก.ก.ต่อไร่ กรณีขาย ขั้นต่ำก.ก.ละ 300 บาท จะมีรายได้จากการขายใบกระท่อมสด ไร่ละ 1,620,000 บาท และในพื้นที่ี 10,000 ไร่ จะมีเงินมากถึง 16,200 ล้านบาทต่อปี

“สหรัฐตั้งมาตรฐานนำเข้ากระท่อม ผงไว้ ต้องมีสารไมทราไจนีน (Mitragynine) ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งกระท่อมในบ้านเรามีมากถึง 57% และยังมีสาร เซเว่นไฮดรอกซี่ไมทราไจนีน (7-hydroxy mitragynine) สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของยาบรรเทาปวดได้เช่นกัน ตลาดหลักๆ เช่น สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย นำเข้าเพื่อเป็นส่วนผสมผลิตมอร์ฟีนขายมูลค่า ปีละ 500,000 ล้านบาท ปัจจุบันสหรัฐนำเข้ากระท่อมผงจากอินโดนีเซีย ปีละ 240,000 ตัน ตลาดสหรัฐถูกครองโดยอินโดนีเซีย 95%”

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงผลการวิจัยใช้พืชกระท่อมบำบัดคนติดยาของ รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะผู้วิจัยพืชกระท่อมต่อสมอง ศูนย์วิจัยสัญญาณชีวภาพเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้ทดลองกับหนูแล้วได้ผลดี ว่าต้องศึกษารายละเอียดต่อไปให้แน่ชัดว่า ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เพราะคงต้องดูเรื่องเซลล์ต่างๆ และคลื่นสมองว่า สามารถใช้พืชกระท่อมบำบัดผู้ติดยาได้จริง 100% หรือไม่ ต้องมีการศึกษาในเชิงลึกต่อไป

ขณะที่นายธนินให้ความเห็นว่า กระท่อมเป็นสมุนไพรไทยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ตลาดในประเทศไทยยังไม่เกิด เพราะยังไม่มีกฎระเบียบออกมารองรับ หลังจากมีการปลดเล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ แต่บริษัทเองก็มีความพร้อมที่จะนำกระท่อมมาทำสกัดสารสำคัญ เพื่อจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ซึ่งนำเข้ากระท่อมผงจากประเทศอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตามตอนนี้บ้านเรายังไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เพราะภาครัฐยังไม่อนุญาตให้ทำในเชิงธุรกิจ ยังไม่มีการระบุว่าจะใส่กระท่อมได้ในอัตราส่วนเท่าใด แต่ทางบริษัทเองก็ได้คุยกับเกษตรกรที่ปลูกกระท่อมไว้แล้ว ถ้าทางการอนุญาตก็สามารถทำได้ทันที ตอนนี้ถ้าจะขายใบสดก็เหมือนพืชทั่วไป ไม่ได้ราคาอะไร จำเป็นต้องทำในรูปสารสกัด

“เท่าที่ดูเทรนด์ของโลก ต่างหันมาให้ความสนใจพืชธรรมชาติในการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ไทยเองมีพืชสมุนไพรจำนวนมาก มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี หากเทียบกันระหว่างกัญชากับกระท่อม จะเห็นได้ว่ากระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ มีผู้รู้สรรพคุณและใช้กันในวงจำกัด ส่วนกัญชานั้นอยู่ในทุกสังคมของทุกประเทศ เพราะอยู่ในตำรับยาแผนโบราณของทุกประเทศ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารและยามานานแล้ว ดังนั้นกัญชาจึงมีโอกาสมากกว่า แต่กระท่อมก็เป็นพืชเศรษฐกิจ ตัวใหม่ที่มาแรง เป็นทางเลือก เพื่อ เพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย แต่ในมุมธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเกิดยาก เนื่องจากยังใช้ประโยชน์ไม่ได้ ต้องรอกฎหมายลูกก่อน”

เขาให้คำแนะนำเกษตรกรไทยว่า ถ้าอยากจะปลูกกระท่อม ควรศึกษาเรื่องสายพันธุ์ให้ดีก่อน และจะต้องคำนวณต้นทุนการปลูกระยะ เวลาเก็บเกี่ยว อยากให้ศึกษาให้รอบคอบ ทางบริษัทก็คุยกับเกษตรกรไว้แล้วว่าจะปลูก 100 ไร่ โดยวางแผนจะปลูกเพื่อรองรับตลาด

ด้าน นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม บอกว่า ในปี 2565 คงใช้ใบกระท่อมกันเองในประเทศ เพราะตอนนี้โรงงานสกัดเพื่อส่งออกยังไม่มี เท่าที่ทราบมีผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลายอยู่ระหว่างขออนุญาตทางอย. เพื่อนำกระท่อมไปผสมกับเครื่องดื่ม และทราบว่าจะมีการตั้งโรงงานสกัดสารสำคัญในใบกระท่อมอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อส่งไปขายที่ยุโรป และสหรัฐ โดยตลาดยุโรปมีมูลค่ามหาศาลประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี

“หลังปลดล็อก เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้นมาก ในกทม.ข้างถนนก็ขายกระท่อมกันกำละ 50 บาท มีรายได้วันละ 500-600 บาท สร้างรายได้อย่างดี ขายต้นทาบกิ่งต้นละ 200-400 บาท มีคนเพาะเมล็ดกันเยอะ ขายต้นกล้ากระท่อมรวยกันไปหลายราย แต่พอกลไกการตลาดมีคนขายต้นกระท่อมกันเยอะขึ้นราคาก็ถูกลง ปกติคนใต้กินใบกระท่อมเป็นวิถีชีวิตปกติ ทำให้มีกำลังวังชาในการทำงาน ขยัน ไม่กลัวแดด”

กูรูเรื่องกระท่อมอย่าง รศ.ดร.เอกสิทธิ์ มองว่าในปี 2565 ผู้คนรู้จักสรรพคุณของกระท่อม และสามารถนำไปสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งมีสรรพคุณทั้งลดไตรกลีเซอไรด์ แก้เบาหวาน ลดน้ำหนักตัว

แก้ท้องร่วง เป็นสมุนไพรเพื่อรักษาโรค แต่ในแง่กฎหมายต้องมีมาตรการควบคุม เช่น ควบคุมไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซื้อขาย ฉะนั้นในปีหน้าจะมีการพัฒนา จึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อแปรรูป

“กระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่ผลประโยชน์ก้อนใหญ่ในการส่งออกไปต่างประเทศจะตกกับผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่ง เกษตรกรแค่เป็นผู้ปลูกส่งให้กับโรงงาน กระท่อมของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เกรดไม่ดี สู้บ้านเราไม่ได้ ของไทยกับมาเลย์ดีกว่า”

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นภาพกว้างๆ แล้วว่าทิศทางของกัญชา-กระท่อมในปีเสือ น่าจะไปได้ดีทีเดียว เพราะไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการรายใหญ่คงไม่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจนี้แน่นอน

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน