ส่งท้ายปีวัว64ปีแห่งวิกฤตการศึกษา
คุณภาพถดถอย-เรียนออนไลน์ไร้คุณภาพ

ปี 2564 ฉลูวัวทองผ่านพ้นกันมาแบบไม่ ผ่องใสนัก โดยเฉพาะแวดวงการศึกษา วิกฤตหนักมา 2 ปี จากการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เด็กไม่สามารถไปเรียนได้ตามปกติ และต้องปรับรูปแบบมาเรียนออนไลน์….

เกิดปัญหาทั้งเรื่องโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้เข้าถึงทุกพื้นที่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน สำคัญที่สุดคือความพร้อมของครูและเด็ก ที่ไม่ได้เท่ากันทุกคน เกิดความเครียดทั้งเด็กและผู้ปกครอง ตามมาด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ เด็กออกกลางคัน

จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศส.) พบว่าปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา มากถึง 4.1 หมื่นคน กว่าร้อยละ 80 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่อ ม.4 จำนวน 33,127 คน รองลงมาคือ ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8,092 คน คิดเป็น 19% และอนุบาล 3 จำนวน 391 คน คิดเป็น 1%

กระทั่งเคยมีข้อเสนอ ให้หยุดการเรียน การสอนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ อีกทั้งเผยผลวิจัยเด็กไทยเกิดความเครียด โดดเรียนออนไลน์มากกว่า 20% ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลก ระบุว่าการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาวะ Learning Loss หรือความรู้ถดถอย

ภาวะดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการศธ. ประกาศให้โรงเรียนที่มีความพร้อม เปิดเรียนออนไซต์ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อลดแรงต้าน และให้สอดรับ กับการเปิดประเทศ ให้เด็กได้รับความรู้ เพิ่มมากขึ้น

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยอมรับว่า 2 ปีที่ผ่านมาการศึกษาไทยได้รับผลกระทบหนัก ศธ.จึงพยายามแก้ไขปัญหา ช่วงที่มีการ ระบาดหนักได้ออกแบบการเรียนการสอน ให้ครูนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบท ของพื้นที่และเป็นไปตามมาตรการป้องกัน ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

โดยแบ่งเป็น 5 รูปแบบคือ เรียนออนแอร์ ผ่านระบบมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV การเรียนออนไลน์ ครูผู้สอนทำการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเรียน แบบออนดีมานด์ ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น และการเรียนแบบออนแฮนด์ ครูผู้สอนเดินทาง ไปแจกเอกสารใบงานให้กับนักเรียนที่บ้าน

ภาพรวมโรงเรียนทยอยเปิดเรียนออนไซต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังมีการระบาดของ เชื้อโควิด-19 แต่ส่วนใหญ่เด็กจะติดมาจาก ที่บ้าน ซึ่งโรงเรียนสามารถบล็อกได้ทัน ซึ่งผู้ปกครองมีความเข้าใจมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะชี้ให้เห็นว่า การเปิดโรงเรียนไม่ใช่เป็นต้นเหตุ ของการแพร่ระบาด และต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ฉีดไปได้เกือบ 100% แล้ว

ส่วนผู้ปกครองที่ยังมีความกังวล ไม่อยากให้เปิดเรียนออนไซต์นั้น ส่วนตัวเข้าใจ ซึ่งจากการเปิดออนไซต์ที่ผ่านมา มีทั้งคนที่ห่วงว่าลูกจะได้รับการศึกษาไม่เต็มที่ และอยากให้เปิดเรียนออนไซต์ และคนที่ยังไม่อยากให้เปิดเพราะกังวลว่าจะเกิดคลัสเตอร์โรงเรียน

จากการประเมินข้อมูลทั้งหมด ประเทศไทย เผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มา 2 ปี แต่เมื่อมีวัคซีน กลายเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้การแพร่ระบาดลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ติดเชื้อน้อยลงแสดงว่าวัคซีนเป็นเรื่องจำเป็นที่ใช้ในการป้องกัน อยากให้ผู้ปกครองและนักเรียนเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด

“ส่วนที่สังคมมองว่า เด็กเรียนออนไลน์ทำให้การศึกษาไทยถดถอยนั้น ผมยอมรับ แต่เห็นว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเหมือนเราอยู่ในภาวะสงครามที่ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็ต้องมาดูว่าจะ ซ่อมเสริมอย่างไร ซึ่งด้วยศักยภาพของนักเรียน ถ้าเติมเฉพาะเนื้อหาหลักที่เป็นสมรรถนะให้คิดว่าน่าจะไปได้ เพราะเนื้อหาส่วนอื่นๆ เด็กสามารถเรียนรู้ได้เอง สิ่งที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ห่วงใยมากที่สุดคือ โอกาสทางการศึกษาของเด็กยากจนและด้อยโอกาส ทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม รวมถึง การจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์ แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้มีคุณภาพ แม้โควิด-19 จะยังไม่หมดไปแต่การศึกษาไทยต้องมีคุณภาพ การบริหารจัดการทุกอย่างต้องมีคุณภาพ โดยยึดประโยชน์ของเด็กและผู้ปกครองเป็นสำคัญ” นายอัมพรกล่าว

อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ดีวิกฤตโควิด-19 ทำให้ครูมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัว หาวิธีสอนใหม่ๆ ทั้งรูปแบบออนไลน์ ออนแฮนด์ ออนดีมานด์ ซึ่งผมคิดว่าออนไลน์น่าสนใจมากที่สุด แต่ปัญหาที่พบคือ นักเรียนและครูยังไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะใช้ในการเรียนการสอน ดังนั้นในอนาคต หากหาเครื่องมือ อาทิ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตให้เด็กได้ทุกครอบครัว ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้ครูค่อนข้างมีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี

ขณะที่ นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ฉายภาพปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ว่านอกจากการซ่อมเสริมด้านวิชาการให้กับเด็กแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคือ การติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจากที่ลง ภาคสนามดูการจัดการศึกษา และดูสถานการณ์ เด็กออกกลางคัน พบว่าขณะนี้สถานการณ์เด็กออกกลางคันรุนแรงและวิกฤตมาก มีเด็กชั้น ม.1 และม.2 ออกจากโรงเรียนจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังพบเด็กแขวนลอยที่มีชื่ออยู่ในระบบโรงเรียน แต่ในความจริงเด็กเหล่านี้ ออกจากโรงเรียนไปแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ทำเรื่องลาออก ซึ่งจำนวนเด็กเหล่านี้มีมากกว่าจำนวนเด็กที่ดร็อปเอาต์ออกจากระบบการศึกษา

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ปัญหาเด็กนอกระบบ จะทวีคูณเพิ่มมากนี้ คดีและเรื่องความรุนแรงจะมีเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้นการแก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบจะแก้แบบเดิม คือแต่ละหน่วยงานต่างทำงาน ไม่ทำงานร่วมไม่ได้อีกแล้ว

เชื่อว่าโควิด-19 ยังไม่โบกมือลาจากประเทศไทยไปง่ายๆ การปรับตัวใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มัล เป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องทำ เช่นเดียวกันการศึกษาต้องเร่งปรับตัวสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับการเรียนทุกระบบ ทั้งออนไลน์และออนไซต์ ที่ควรเป็นตัวเลือกสำคัญของการศึกษารูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมานั่งในห้องเรียนเท่านั้น ….

เป็นงานหินต้อนรับปีเสือดุ 65 รอพิสูจน์ฝีมือ ครูเหน่ง ‘ตรีนุช เทียนทอง’ รัฐมนตรีศธ.

น.ส. ตรีนุช เทียนทอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน