โรงไฟฟ้าชีวมวล – การพัฒนาเมือง พัฒนาชุมชน ควรมีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย ทำมาหากิน ประกอบกิจการด้วยความสงบสุขสบายด้วยกัน

แต่โครงการไฟฟ้าชีวมวล 2 โรง ขนาดกำลังผลิตโรงละ 25 เมกะวัตต์ เกิดคำถามว่าทำไมถูกต่อต้านจากผู้คนในพื้นที่อย่างรุนแรง ขณะที่ผู้ประกอบการอ้างหลักฐาน เอกสารทางราชการยืนยันความถูกต้องชอบธรรม

ชาวบ้านให้เหตุผลว่า

1. กล่าวถึงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ อ.นาบอน ตามกฎกระทรวงผังเมืองรวม ทั้งอำเภอนาบอนถูกที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม (สีม่วง) นั้น ส่วนราชการผู้จัดทำวางผังเมืองรวมดำเนินการโดยผู้คนชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้มีโอกาสรับรู้และรับทราบมาโดยตลอด (กฎกระทรวงผังเมืองรวมนครศรีธรรมราชฉบับนี้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ก่อนจะเริ่มทำโครงการนี้ในปี 2562)

กรณีนี้จึงเกิดคำถามว่า เหตุใดคณะกรรมการผังเมืองจึงตกลงยอมให้ที่ดินทั้งอำเภอนาบอน ซึ่งผู้คนที่อยู่อาศัยในเขตนี้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไปเป็นพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม โดยที่ศักยภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ในเขตอำเภอนาบอนไม่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

ไม่ว่าความไม่ชัดเจนในเรื่องทรัพยากรพื้นถิ่น เช่น แร่ธาตุธรรมชาติ การสาธารณูปโภค ปริมาณน้ำที่พอเพียงต่อกิจการอุตสาหกรรมและการบริโภค การขนส่ง วัตถุดิบในการแปรรูป เพื่อการผลิต แรงงาน พลังงาน ในพื้นที่ 192.899 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 26,700 คน

2. รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบุถึงกระบวนการใช้น้ำเพื่อการผลิตของโรงไฟฟ้าชีวมวล และการบำบัดน้ำเสียที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมเจ้าท่า แต่มิได้เอ่ยถึงปริมาณน้ำใช้ของโรงงานว่ามาจากที่ใดที่ชัดเจนและเพียงพอต่อการผลิตหรือไม่

กรณีหน้าแล้ง รายงานผลกระทบเพียงแต่ยืนยันว่าจะไม่สูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติคือลำน้ำห้วยตะเคียนเท่านั้น หากมิได้ นำน้ำจากแหล่งธรรมชาติแล้วจะนำน้ำที่ใช้ในการผลิตจากที่ใด ประเด็นสำคัญส่วนนี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมได้ผ่านความเห็นชอบในรายงานนี้โดยไม่บันทึกเรื่องนี้ไว้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของชาวบ้านที่ขอให้รัฐพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของการจัดทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA ซึ่งถึงแม้จะได้รับการยอมรับจากภาครัฐก็ตาม แต่กระบวนการ ก็ยังไม่เสร็จสิ้น

แน่นอนเมื่อมีการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมของทั้งสองฝ่าย ผู้ประกอบการซึ่งมีเอกสารหลักฐานที่ได้ดำเนินการมาตาม กระบวนการทางกฎหมายก็ย่อมได้ประโยชน์

คำถามคือ รัฐผู้มีหน้าที่ประสานผลประโยชน์ของประชาชน จะตัดสินใจในเรื่องนี้ได้อย่างไร

เรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในเรื่องนี้ก็คือ การชี้ให้เห็นว่า กฎหมายหรือกระบวนการทางกฎหมายที่บังคับใช้กันอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะสำหรับเรื่องการก่อสร้าง การพัฒนาเมือง การประกอบธุรกิจ ธุรกรรมที่เกี่ยวกับอาคารที่มีอยู่ถึง 21 ฉบับ มีกฎกระทรวงอีก นับหมื่นข้อนั้น ไม่อาจจะใช้เพื่อประสานผลประโยชน์ให้แก่สังคมได้อย่างชอบธรรม

นายช่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน