‘เยาวชน’พลังสื่อสารช่วยเพื่อนสํานักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ภายใต้โครงการ “สานพลังเยาวชนอีสาน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง” มีเป้าหมายสร้างการรับรู้และความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้า บุหรี่ และการพนัน กับเด็กและเยาวชน นำร่อง 21 โรงเรียนในเครือข่ายภาคอีสาน เตรียมขยายผลสู่โรงเรียน ครอบครัว และชุมชนทั่วประเทศให้มีสุขภาวะดีอย่าง ยั่งยืนที่โรงแรมอวานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้

โดย ครูวิชะมัด งามจิตร พร้อมคณะจากโรงเรียนบุญวัฒนา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้การแนะนำการนำความรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยงสู่การทำคลิป TikTok โดยอาจารย์พุฒิพงษ์ รับจันทร์ และคณะจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และศิลปิน “ลำเพลิน วงศกร” ที่มาเล่าเส้นทางชีวิตก่อนเข้าสู่การเป็นศิลปินเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนโครงการ “สานพลังเยาวชนอีสาน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง” ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีมูลนิธิพัฒนาชุมชน อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จ.ขอนแก่น ขับเคลื่อน มีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการคือ 1.พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ให้กับเยาวชนกลุ่มเสี่ยง 2.พัฒนาเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ 3.พัฒนารูปแบบการสื่อสารผลการดำเนินงานของแกนนำเยาวชนให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง และ 4.ประเมินประสิทธิผลการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาเครือข่าย

นายวรากร เสนามาตย์ ผอ.โรงเรียนคูเมืองวิทยาคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากมีตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมโครงการกับสสส. นักเรียนที่เป็นแกนนำได้นำข้อมูล ความรู้ มาขยายผลกับเพื่อนๆ ภายในโรงเรียน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด เช่น เด็กนักเรียนที่เคยแอบสูบบุหรี่บริเวณห้องน้ำลดลง

ครั้งนี้โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการกับสสส. และมีการหยิบ แอพพลิเคชั่น TikTok เข้ามาให้เด็กๆ ได้ทดลองทำสื่อ ครูมองว่า มีประโยชน์อย่างมากเพราะนักเรียนสนใจ และเชื่อว่าจะช่วยขยายผลได้เร็วกว่า เพราะเด็กให้ความสนใจ

ด้าน นางเต็มดวง หวังปรุงกลาง ครูโรงเรียนบ้านหนองม่วงหวานจ.นครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อก่อนมักจะพบปัญหาเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเริ่มลุกลามไปถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาพบว่าส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างต้องอยู่กับตายาย การที่โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมปีที่ 2 คาดหวังว่านักเรียนที่เข้าร่วมจะนำประสบการณ์ เรื่องราวที่ได้จากการอบรม มาถ่ายทอดที่โรงเรียนให้เห็นข้อดีข้อเสียและการแก้ไขพฤติกรรมให้กับเพื่อนๆ ได้

น.ส.ภัทรภรณ์ เต็มใจ นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนรมย์บุรีพิทยาคมรัชมังคลาพิเศษ จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า รู้สึกประทับใจที่ค่ายนี้มีความสนุกสนานเป็นกันเอง โดยเฉพาะฐานการเรียนรู้มีประโยชน์และ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
ปิดท้ายที่ นายนันทพงศ์ รูปจะโป๊ะ นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนบ้านหนองม่วงหวาน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ประทับใจที่ได้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเพื่อนใหม่ การบรรยายจากวิทยากร ก็ทำให้ได้รู้ถึงผลกระทบโทษของบุหรี่ รวมไปถึงการรับฟังประสบการณ์ชีวิตจากวิทยากรซึ่งจะนำไปต่อยอดและแบ่งปัน กับเพื่อนในโรงเรียนได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน