ในโอกาสวันแห่งความรัก ปี 2565 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา เรื่อง “ความรัก & สุขภาพจิต” มุ่งเน้นสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าถึงบริการทางสุขภาพใจของกรมสุขภาพจิตและกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง สายด่วน 1323 และ วัดใจ.com โดยถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์

หนึ่งในคำถามที่น้องๆ เยาวชนส่งเข้ามาถามวิทยากรคือ “เพราะเหตุใดเวลาอกหักจากคนรักถึงต้องทำร้ายตัวเองด้วยบุหรี่หรือแอลกอฮอล์” ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง กล่าวว่า การถูกคนรักทิ้งไปอาจสร้างความรู้สึกเจ็บปวดต่อจิตใจ แต่หลังจากนั้นการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์คือการทำร้ายชีวิตตัวเอง นอกจากเราเอาหัวใจไปลงทุนแล้ว เราต้องเอาปอดไปลงทุนกับความรักด้วยอีกหรือเปล่า คนคนนั้นไปจากชีวิตเราแล้ว ทำไมเราจึงทิ้งผลระยะยาวที่เกิดจากเขาได้นานขนาดนี้ ติดเบรกให้ตัวเราไวๆ กินเหล้าพอเมาก็หายคิดถึง พอหายเมาก็กลับมาคิดถึงเขาอีก เสียเงินค่าเหล้าไม่พอ ต้องมาเสียเงินรักษาสุขภาพ รักษาตับอีก ทำไมเราไม่เปลี่ยนความคิดด้วยการหันกลับมาดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง ตั้งใจทำงาน ศึกษาเล่าเรียนให้มีสิ่งดีๆ เป็นของขวัญตัวเองแทนการทำร้ายตัวเอง

ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์อาจช่วยให้เราลืมความเจ็บปวดทางจิตใจได้เพียงชั่วคราว เมื่อฤทธิ์ของนิโคตินหรือแอลกอฮอล์หมดไปเราอาจกลับมารู้สึกเจ็บปวดต่อไปได้อีก ทั้งนิโคตินและแอลกอฮอล์ยังจะทำร้ายและ ซ้ำเติมความบอบช้ำของร่างกาย เราต้องยอมรับผลของสิ่งที่เกิดขึ้น เดินหน้าสู้กับปัญหาและต้องไม่ทำร้ายตัวเอง

ด้านเยาวชนผู้ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต น้องญา น.ส.ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา วัย 18 ปี ฝากถึงเพื่อนๆ วัยรุ่นว่า หากเราเลือกวิธีใดก็ตามสำหรับจัดการอารมณ์ของตนเองเวลาเศร้า เราจะต้องใช้วิธีนั้นทุกครั้งเลยหรือ เช่น ถ้าวันนี้เราดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ เพื่อทดแทนความรู้สึกทางใจ เราจะใช้วิธีนี้ ทุกครั้งไปตลอดชีวิตเลยหรือเปล่า เราต้องหาวิธีอื่นที่ดีและสร้างสรรค์กว่านี้ ต้องทำให้ตัว เราเองมีคุณค่ามีอนาคตที่ดีในการใช้ชีวิตต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน