เดินหน้าดันไทยเป็นฮับการผลิต

รายงานพิเศษ

หลังระดมกึ๋นกันอยู่นาน ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบทุ่มเงินร่วม 4 หมื่นล้านบาท ออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งระบบ ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เสนอ

เป็นการปักหมุดเข็มทิศ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และกระตุ้นผู้ประกอบการให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยครอบคลุม ทั้งรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์

ระยะเวลาของมาตรการสนับสนุนระหว่างปี 2565-2568 สาระสำคัญ คือ 1.การให้เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน

2.ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% 3.ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566
และ 4.ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ

ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่ผลิตและประกอบในประเทศ ให้สิทธิประโยชน์ ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ในปี 2565-2566 ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568 และให้เงินอุดหนุนในปี 2565-2568 จำนวน 70,000 บาท สำหรับรถยนต์ที่แบตเตอรี่ต่ำกว่า 30kWh และ 150,000 บาท สำหรับแบตเตอรี่เกินกว่า 30kWh ขึ้นไป

ส่วนรถยนต์ที่ราคาขายปลีกแนะนำ 2-7 ล้านบาท ที่ผลิตและประกอบในประเทศ ให้สิทธิประโยชน์ ลดอากรขาเข้าสูงสุด 20% ในปี 2565-2566 ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568 โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการภายในประเทศ และต้องผลิตรถยนต์ชดเชยภายในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน ในปี 2565-2566 อัตราส่วนนำเข้า 1 คัน ต้องผลิตได้ 1.5 คัน

รถกระบะ ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้สิทธิประโยชน์ ลดภาษีสรรพสามิต เป็น 0% ในปี 2565-2568 และให้เงินอุดหนุนในปี 2565-2568 จำนวน 150,000 บาท สำหรับ BEV ที่แบตเตอรี่ต่ำกว่า 30kWh เฉพาะที่ผลิตในประเทศ ส่วนรถจักรยานยนต์ ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท ให้เงินอุดหนุนในปี 2565-2568 จำนวน 18,000 บาท มีเงื่อนไขผลิตชดเชยเหมือนรถยนต์ไฟฟ้า








Advertisement

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การผลิตรถอีวีของภูมิภาค โดยเป้าหมายในปี ค.ศ.2030 ประเทศไทยจะต้องผลิตรถยนต์อีวีให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในประเทศ

จากมาตรการสนับสนุนดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าปีแรกจะมีผู้มาใช้สิทธิ์รวมกันเป็นวงเงิน 3 พันล้านบาท แต่หากมีการขอมาเกินวงเงินดังกล่าว ก็พร้อมขยายวงเงินให้ เพราะไม่ได้มีการจำกัดวงเงินไว้

ส่วนขั้นตอนการอุดหนุนไม่เหมือนกับโครงการรถคันแรกที่ให้เงินส่วนลดโดยตรงกับผู้ซื้อรถยนต์ แต่การลดราคารถยนต์อีวีตามนโยบายรัฐบาลครั้งนี้จะให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งต้องมาทำสัญญากับกรมสรรพสามิต โดยต้องมีการสำแดงราคาต้นทุนที่แท้จริง ว่ารถยนต์ที่ขายในกรณีที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ เพื่อที่กรมสรรพสามิตจะได้ตรวจสอบได้ว่าส่วนลดที่ให้ไป ผู้ประกอบการมีการนำไปลดราคาขายปลีกให้กับผู้ซื้อรถยนต์อย่างแท้จริง

การจ่ายเงินส่วนลดให้ผู้ประกอบการนั้น ผู้ประกอบการจะต้องขายรถยนต์อีวีออกไปก่อน หลังจากนั้นผู้ประกอบการจะต้องรายงานมายังกรมสรรพสามิตทุกไตรมาสว่าได้ทำการขายรถยนต์อีวีไปจำนวนเท่าไหร่ เพื่อที่กรมจะได้จ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการเป็นรายไตรมาส โดยเบื้องต้นคาดว่ากรมน่าจะเริ่มทำสัญญากับผู้ประกอบการได้ในเดือน มี.ค.2565

มาตรการสนับสนุนรถยนต์อีวีในประเทศ จะดำเนินการในช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้นจะไม่ได้รับการอุดหนุน แต่ค่ายรถยนต์จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ตามเงื่อนไขและจำนวนที่ได้ขายไปในช่วงที่ได้รับการสนับสนุน หากค่ายรถยนต์ไม่ทำตามสัญญาก็จะมีบทลงโทษ มีค่าปรับ เป็นต้น

หันมาดูมุมมองของเอกชนกันบ้าง

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาตรการต่างๆ โดยรวมถือว่าเป็นเรื่องดี ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสนใจ และเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใช้งานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนระยะยาวของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งต้องสร้างรากฐานด้วยการทำให้เกิดการใช้งานจำนวนมาก เพื่อให้ตลาดในประเทศมีความแข็งแรง จึงจะมีโอกาสที่จะจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่เชื่อมั่นว่าจากนี้ไปค่ายรถยนต์ต้องปรับตัว เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม มองว่าภาครัฐยังต้องมีมาตรการที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ จุดชาร์จที่ครอบคลุมความต้องการ ความสะดวกสบายที่มากกว่าการใช้รถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะส่งผลในเชิงจิตวิทยาเป็นอย่างมา

ด้านนายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธานนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย และรองประธานสายงานการตลาดและการขาย นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า ในฐานะผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้า นิสสันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และไร้มลพิษ ทั้งนี้ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ายังเป็นกลยุทธ์ที่หลักสำหรับนิสสันในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ซึ่งนโยบายส่งเสริมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยนั้น จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเป็นที่น่าจับตามอง และเป็นตลาดยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่น่าตื่นเต้นของโลก อีกทั้งจะทำให้ประเทศไทยไปสู่ความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ส่วน เกรท วอลล์ มอเตอร์ กล่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้ และส่งเสริมให้มีการผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของเกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่เน้นการดำเนินธุรกิจในเซ็กเมนต์รถยนต์ไฟฟ้า และต้องการสร้างสังคมรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การเห็นชอบมาตรการดังกล่าว ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหลังจากมีข่าวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ปรากฏว่าลูกค้าชะลอการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปจำนวนหนึ่ง การมีความชัดเจน รวมถึงการให้เงินสนับสนุน จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้น

ส่วนการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จากเดิมอยู่ที่ 80% เหลือ 40% นั้น ทำให้ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า เสียอยู่ที่ 20% และรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศเกาหลี ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า เสียอยู่ที่ 40% ทำให้ทั้งสองประเทศนี้ภาษีนำเข้าเหลือ 0% เท่ากับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้ตลาดมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนในปี 2564 ที่ผ่านมาทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และอื่นๆ อาทิ รถตุ๊กตุ๊ก อยู่ที่ 5,781 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ 2,999 คัน หรือเติบโตขึ้นกว่า 100% โดยรถยนต์มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 1,955 คัน ขณะที่ในปีนี้หากพิจารณาจากสถิติที่มีการเติบโตปีละประมาณ 100% จะอยู่ที่ 8,000-9,000 คัน

แต่เมื่อมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มแรงจูงใจมากขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ว่าภายในปี 2568 ประเทศไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้าปีละ 220,000 คัน และในปี 2573 จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ อัตราเติบโตต้องเป็นไปแบบก้าวกระโดด จึงจะเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม มองว่าสเต็ปต่อไป รัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในเรื่องของจำนวนที่มากเพียงพอกับความต้องการ รวมถึงการคำนวณอัตราต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ช่วยให้สามารถคืนทุนในเวลาไม่นานจนเกินไป เพื่อจูงใจเอกชนเข้ามาลงทุนให้มากขึ้น

ถ้าหวังจะให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวีต้องสร้างแรงจูงใจ โดยเฉพาะสถานีชาร์จต้องมีจำนวนมากพอรองรับ อย่าให้ซ้ำรอยรถยนต์ที่เติมก๊าซเอ็นจีวีที่ปั๊มไม่เพียงพอ ต้องรอเติมกันนานเป็นชั่วโมง!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน