เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวไทลื้อ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดสรรงบประมาณอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปี 2565 ในโครงการศิลป์สร้างสรรค์ สืบสาน พัฒนาต่อยอด หุ่นมือผ้าทอไทลื้อ บ้านธิ ลำพูน ดำเนินการร่วมกับคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนานางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าโครงการดังกล่าว มุ่งอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาว ไทลื้ออันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นภาคเหนือของประเทศไทย ตามบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทลื้อบ้านธิในวิถีปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ของผ้าทออันโดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะตัวที่งดงาม มีคุณค่า ผ่านการสร้างสรรค์เป็นตัวละครหุ่นร่วมสมัยต้นแบบ “หุ่นมือผ้าทอไทลื้อ” โดยสร้างรูปแบบของตัวหุ่นจากเรื่องราวตำนาน เรื่องเล่าจากชุมชน บรรพบุรุษคนไทลื้อจากสิบสองปันนาซึ่งอพยพย้ายมาอยู่ที่บ้านธิในปัจจุบัน

ตัวละครหุ่นผ้าทอไทลื้อจะมีการพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ให้นำไปจัดแสดงละคร หุ่นมือไทลื้อโดยกลุ่มเยาวชนไทลื้อรุ่นใหม่ จำนวน 9 ตัวละคร 1 ชุดการแสดง และต้นแบบตุ๊กตาหุ่นมือผ้าทอไทลื้อ จำนวน 10 ต้นแบบ

รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกล่าวต่อว่า การดำเนินงานดังกล่าวสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน วัด บ้าน โรงเรียนเป็นหลัก ร่วมกับชมรมสืบฮีตสานฮอยวัฒนธรรมบ้านธิ พิพิธภัณฑ์บ้านไทลื้อบ้านธิ สมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดลำพูน เทศบาลตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ เครือข่ายศิลปิน ล้านนา จากรากฐานสู่ร่วมสมัย มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปะ ทำให้เยาวชนเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง มีบทบาทในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม สามารถสื่อสารให้ผู้ที่มาเยือนชื่นชมและเรียนรู้เอกลักษณ์ความงดงามทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตชาวไทลื้อ เคารพในวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ก่อเกิดมิตรภาพ ความรู้ ความเข้าใจ และความซาบซึ้งในวัฒนธรรมชุมชนไทลื้อ ขณะที่ศิลปะหุ่นมือไทลื้อทำหน้าที่เสมือนภาพจำลองชนบทและสังคมที่ดีของชุมชน ทำให้เยาวชน ผู้ชมทั้งไทยและต่างประเทศเรียนรู้บริบททางสังคมของกลุ่มชนชาติพันธุ์ในประเทศไทย รวมถึงด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

น.ส.น้ำฝน อุ่นฤทธิ์ หัวหน้าโครงการกล่าวว่า ผลผลิตของโครงการนี้เป็นการสร้างสรรค์ สืบสาน และพัฒนาต่อยอด จากรากแห่งวัฒนธรรมไทลื้อดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัยในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้เยาวชนเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง มีบทบาทในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม สามารถสื่อสารให้ผู้ที่มาเยือนชื่นชมและเรียนรู้เอกลักษณ์ความงดงามทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตชาวไทลื้อผ่านหุ่นมือผ้าทอไทลื้อ รวมทั้งเกิดแหล่งเรียนรู้เชิงศิลปะและวัฒนธรรมไทลื้อสู่สาธารณชน

นอกจากนี้ ยังพัฒนาสู่การสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ชุมชนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการจัดทำหุ่นมือผ้าทอจำหน่ายเป็นของที่ระลึกจากชุมชนทั้งออนไซต์และออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน