“การนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลเพื่อใช้ในงานสถาปัตยกรรม หรือ Up-Cycling Design ถือเป็นการรีไซเคิลที่มีความยั่งยืน เพราะนอกจากจะช่วยโลกลดปริมาณขยะแล้วยังมีส่วนช่วยให้สถาปัตยกรรมการก่อสร้างมีอายุการใช้งานยาวนานนับสิบปีเมื่อเทียบกับการนำมารีไซเคิลด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน”

แนวความคิดของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม จากรั้วพระจอมเกล้าลาดกระบัง ต้า นายพงศ์สุริยะ สกลภูวรักษ์ ที่ถ่ายทอดหลักคิดสู่งานดีไซน์แลนด์มาร์กจนคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดออกแบบแลนด์มาร์กส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แก่ชุมชนบ้านอำเภอ พัทยา จังหวัดชลบุรี ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมี ผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ต้า พงศ์สุริยะ สกลภูวรักษ์ นักศึกษา ชั้นปีที่ 2 สาขาภูมิสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เล่าว่า ด้วยโจทย์ที่ได้รับจากผู้นำชุมชนที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ของ “อาคารพักสายตรวจ” สถานีบริการประชาชนขนาดเล็กภายในชุมชนบ้านอำเภอที่ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมจากการใช้งานมานานหลายปี จึงเกิดเป็นไอเดียออกแบบให้อาคารแห่งนี้กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของชุมชน ที่นอกจากเป็นจุดพักสายตรวจ แล้วยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ทุกคนในชุมชนตลอดจนนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ประโยชน์ได้

วัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้างผ่านการศึกษาแหล่งอ้างอิงถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง ประกอบด้วย “ขยะพลาสติก” สู่บล็อกปูพื้น ทดแทนยางมะตอย น้ำหนักเบา แข็งแรง และรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี “ขวดพลาสติก” สู่อิฐมวลเบา ทนทานและเป็นฉนวนกันความร้อน

แลนด์มาร์กแห่งนี้โดดเด่นด้วย “ใบเรือขนาดใหญ่” ทำจากผ้าใบสีขาวตระหง่านบริเวณดาดฟ้าตัวอาคาร เพื่อสื่อสารถึงชุมชนวิถีที่ใกล้ชิดท้องทะเลและมีอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการประมง ใบเรือขนาดใหญ่นี้สร้างสีสันและให้อรรถรสที่แตกต่างกันในสองช่วงเวลาคือ ช่วงกลางวันจะคงสีขาวเด่นเป็นเอกลักษณ์ตัดกับท้องทะเลสีฟ้าคราม

ขณะที่ช่วงกลางคืนทำ Project Mapping ด้วยการฉายแสงโปรเจ็กเตอร์ไปยังผ้าใบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมแสงสีพร้อมสัมผัสบรรยากาศสุดชิกยามค่ำคืน ทั้งยังออกแบบตัวอาคารให้มีพื้นที่ใช้สอยตอบโจทย์การใช้งานของทุกคน ทั้งเจ้าหน้าที่ ชุมชน และนักท่องเที่ยว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน