อาคเนย์-ไทยประกันภัยมีผลทันที

คลังยกเลิกใบอนุญาตอาคเนย์-ไทยประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป หลังมีสินไหมค้างจ่ายร่วม 1.8 หมื่นล้าน ย้ำลูกค้าเจอจ่ายจบ 1.17 ล้านกรมธรรม์ ได้รับการดูแล เตรียมกู้ออมสินใช้จ่ายประกันบรรเทาผลกระทบลูกค้า

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทประกันภัย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.วินาศภัย พ.ศ.2535 โดยมีผลทันที ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565

เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินจนไม่สามารถดำเนินการธุรกิจต่อได้ โดย บมจ.อาคเนย์ ขาดทุนอยู่ 1,194 ล้านบาท ส่วน บมจ.ไทยประกันภัย ขาดทุนอยู่ 12,496 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดย บมจ.อาคเนย์ -130.43% และ ไทยประกันภัย -2,653.94%

นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลัง ตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่สนับสนุนเงินทุน มีการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และไม่บันทึกรายการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและบันทึกล่าช้า

สำหรับผู้เอาประกันที่ได้รับความเสียหาย ทาง คปภ. ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งสำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงานส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ และกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจะดูแลลูกค้าประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ประมาณ 1.17 ล้านกรมธรรม์ ที่ยังไม่เคลม

นอกจากนี้ กรมธรรม์ที่เหลือจะถูกถ่ายโอนไปยังกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งมีสภาพคล่องเหลืออยู่ 5,000-7,000 ล้านบาท โดยกระบวนการช่วยเหลือขั้นแรกจะเจรจากับบริษัทอื่นๆ เพื่อรับโอนต่อไป เบื้องต้นมี 15 บริษัทพร้อมเข้ามาช่วยรับภาระดังกล่าว

ด้านภาระหนี้สิน บมจ.อาคเนย์ มีหนี้ 18,140 ล้านบาท มีสินไหมค้างจ่าย 13,559.32 ล้านบาท ส่วน บมจ.ไทยประกันภัย หนี้สิน 15,000 ล้านบาท สินไหมค้างจ่าย 4,613 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คปภ. ได้เตรียมแหล่งเงินทุน สำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุน โดยทางเลือกหนึ่ง คือ การหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการกู้เงินจากธนาคารออมสิน เพื่อใช้ดูแลบรรเทาผลกระทบให้กับลูกค้าจากกรณี ดังกล่าว แต่ยังไม่สรุปว่าต้องกู้อีกเท่าไหร่ ต้องพิจารณาสินทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ของทั้ง 2 บริษัท ใช้ในการหักกลับบัญชีก่อน

นายสุทธิพลกล่าวว่า คปภ. จะยื่นดำเนินการทางคดีกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ตรวจสอบผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทุกราย รวมทั้งเปรียบเทียบปรับเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีไม่ถูกต้อง และครบถ้วนในเวลาที่กำหนด รวมทั้งจัดทีมตรวจสอบพิเศษ ตรวจสอบความถูกต้องกรณีโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทอื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน