รับมือการเปลี่ยนแปลงโลกการเงิน

รายงานพิเศษ

โลกการเงินยุคใหม่กำลังเปลี่ยนไปอย่าง สิ้นเชิง ภายใต้การเข้ามาของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ Digital Asset ในมิติของประชาชนก็กำลังเกิดการปรับตัว เรียนรู้ มองหาโอกาส ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ส่วนมิติของผู้กำกับดูแล ก็ต้องกำกับดูแลให้เกิดความเหมาะสม ให้มีเสถียรภาพ

ในโอกาสนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเครือ บริษัทมติชน จัดสัมมนาใหญ่ ในหัวข้อ “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและให้เกิดองค์ความรู้ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวบรวมหัวเรือใหญ่ในการชี้ชะตาอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัล มาร่วมพูดคุยกันคับคั่ง

ไฮไลต์สำคัญ เริ่มด้วย “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ให้เกียรติ เปิดเวทีกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า การพึ่งพาภาคท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการะบาดของโควิด-19 มากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ดังนั้นไทยอาจจะต้องดูเรื่องการปรับตัวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ซึ่งจะมีส่วนในการเข้ามาพัฒนาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก นั่นคือ โลกของดิจิทัลเทคโนโลยี โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) ไทยมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเกิดสินทรัพย์ประเภทใหม่ อย่าง “สินทรัพย์ดิจิทัล”

โดยจากข้อมูลพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย จาก 9 ราย มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 พันล้านบาท จาก 240 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ในธุรกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 1.14 แสนล้านบาท จาก 9.6 พันล้านบาท

ขณะที่จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย จาก 1.7 แสนราย ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และถือว่าสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี่ เป็นผู้เล่นรายใหม่นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้น

นายอาคมกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์ในเรื่องของการเป็นทางเลือกในการระดมทุน นอกเหนือจากตลาดหุ้น ซึ่งเชื่อว่าการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต

แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปคือ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไทยยังขาดในเรื่องนี้ หากมีการพัฒนาในส่วนนี้อย่างจริงจังจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปกติใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน มาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลแทนได้

ในฟากของผู้กุมกุญแจดูแลความเสี่ยงด้านสถียรภาพระบบการเงิน โดย นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ภูมิทัศน์ใหม่ธุรกิจการเงินยุคอนาคต” ว่า ต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของทุกคน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีธนาคารพาณิชย์รวมอยู่ด้วย

ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นพลวัตหนึ่งที่นำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยง ดังนั้นต้องมาดูว่าเราจะเก็บเกี่ยวโอกาสจากพลวัตนี้ได้อย่างไร โดยไม่ตกขบวน และใช้โอกาสนี้อย่างเหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ภายใต้แนวคิดรับผิดชอบอย่างยั่งยืน โดย ธปท. พร้อมสนับสนุน

แต่นอกเหนือจากโอกาส ประโยชน์แล้ว ก็ยังมีความเสี่ยง หรือความท้าทายที่เข้ามาพร้อมกัน โดยเฉพาะการเก็งกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าประโยชน์ในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมีเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่มากกว่า 1.5 พันชนิด บางเหรียญมาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเหรียญเหล่านี้จะอยู่ยงคงกระพันในระยะยาว

ขณะเดียวกันก็มีความผันผวนสูงด้วย มีความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ ความเสี่ยงที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกนำไปใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน และความเสี่ยงที่จะมีต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ดังนั้นจึงต้องดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ธปท. ตระหนักถึงความตื่นตัวของประชาชนและภาคธุรกิจ แต่สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ จึงเห็นควรให้มีการกันธนาคารพาณิชย์ออกจากความเสี่ยงไว้ก่อน โดยยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง

จึงนำมาสู่การอนุญาตให้บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น บริษัทลูก สามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้แทน โดยใช้หลักการกั้นรั้ว คือ การกำหนดเพดานให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ไม่เกิน 3% ของเงินลงทุนของกลุ่มธุรกิจ และใช้แนวทางลดความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

“ถ้าเสี่ยงแล้วห้ามทั้งหมดคงไม่ใช่แนวคิดในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจการเงินในอนาคต หากมีแนวคิดในการสร้างประโยชน์จากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน เหมาะสม ธปท. ก็ไม่ปิดกั้นทั้งหมด แต่จะสนับสนุนในการสร้างโอกาสเพื่อให้สิ่งนั้นเติบโตอย่างยั่งยืน แนวคิดของ ธปท. ในการกำกับดูแลเรื่องนี้ โดยมีรั้วกั้นให้แคบหน่อยในช่วงแรก และค่อยๆ ขยับรั้ว ออกไป จนในที่สุดรั้วไม่มีความจำเป็น”

ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลท. ได้จัดตั้ง บริษัท ไทย ดิจิทัล เอ็กซ์เชนจ์ จำกัด (TDX) มุ่งเน้นให้ความสำคัญเป็นศูนย์ซื้อขายผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีสินทรัพย์อ้างอิงชัดเจน หรือ investment token รวมทั้งโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือ utility token

เพื่อให้บริการการซื้อขายและชำระราคา และกระเป๋าเงินดิจิทัล และยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่สำคัญคือทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงให้หลายๆ อีโคซิสเต็มที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล หรือหลายๆ เอ็กซ์เชนจ์และหลายๆ token issuer เข้ามาต่อเชื่อมกันได้ผ่าน Open API ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

ในมุมของภาคเอกชน โดย นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาพิเศษ ระบุว่า ที่ผ่านมาแสนสิริถือเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์รายแรกๆ ที่เข้ามาต่อยอดเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีทั้งการเปิดให้นำเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่มาใช้ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของแสนสิริได้ โดยเบื้องต้นมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในส่วนนี้ ประมาณ 20 ราย ในจำนวนนี้นำเหรียญใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง 13 ราย มูลค่ารวมประมาณ 70 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับยอดขายที่แสนสิริทำได้ต่อปี หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่องเล็ก

ล่าสุดรัฐบาลประกาศห้ามไม่ให้ใช้เหรียญในการซื้อขาย ซึ่งแสนสิริก็จะปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดออกมา และยืนยันว่าจะไม่มีการผลักดันต่อ โดยสินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านการลงทุน และการเก็งกำไร

ดังนั้น หากรัฐบาลไทยสามารถดึงนักลงทุนมากลุ่มคริปโตคอมมูนิตี้ หรือฟินเทค เข้ามาอยู่ในประเทศได้ โดยออกกฎหมายพิเศษตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะ มีมาตรการด้านภาษีให้ เพื่อดึงนักลงทุนกลุ่ม ดังกล่าว ให้มาอยู่อาศัยในไทยระยะยาว

ซึ่งถ้ามีคนย้ายเข้ามาอยู่ไทยจริง แน่นอนว่าธุรกิจกลายๆ อย่าง อาทิ โลจิสติกส์ ค้าขาย โรงแรม และสายการบิน เป็นต้น ก็จะได้รับผลดีจากคนกลุ่มนี้ไปด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในภาคสินทรัพย์ดิจิทัลก็ตาม ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) กล่าวว่า “ผมผ่านมาหลายยุคตั้งแต่ยุค Web 1.0 ถือเป็นยุคแรกๆ ของการเกิดขึ้นอินเตอร์เน็ต เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ส่วน Web 2.0 คือ การมาของโซเชี่ยลมีเดีย อย่างกูเกิ้ล เฟซบุ๊ก เป็นยุคของการสื่อสารสองทาง มีการเขียน อ่าน แชร์ เรื่องราวกันได้”

ขณะที่ Web 3.0 ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นการดีไซน์ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาในยุค Web 2.0 โดยเฉพาะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย เกิดการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมีตัวกลางในการเชื่อมต่อ โดยมีส่วนประกอบสำคัญหลายส่วนทั้ง AI, Blockchain และ Edge Computing ซึ่งจะเข้ามาสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจ

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจจีเอ็มเอ็มมิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ถือเป็นน้องเล็กในอุตสาหกรรม ในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ NFT และเมตาเวิร์ส จากนี้ต้องการเคลื่อนตัวไปสู่อนาคต โดยไม่พึ่งพาธุรกิจเดิมๆ ต้องศึกษาและหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ

ท้ายที่สุด การล้อมวงคุย สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต จึงทำให้เห็นภาพการตั้งรับ และปรับตัวให้ทันต่อโอกาสมากขึ้น

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส

เศรษฐา ทวีสิน

เรืองโรจน์ พูนผล

ภาวิต จิตรกร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน