ด้วยความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอให้อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบนำเสนอพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกอาเซียนให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินพื้นที่ จากนั้นนำเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณา

ก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2566 เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียนต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

นายวราวุธบอกว่า ระหว่างนี้เราต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า พืชพันธุ์หายากต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์อย่างยิ่ง ไม่ให้เสื่อมโทรมลงไป และสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างคนกับป่าตามแนวทางการบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ส่วนลักษณะความโดดเด่นและเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียนในแต่ละพื้นที่ นายวราวุธอธิบายว่า อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นภูเขาหินทราย ยอดตัดอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราช ใกล้กับด้านลาดทิศตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ จ.เลย ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน

พืชพันธุ์และสัตว์ป่าในอุทยานฯ ภูกระดึง ถือว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดป่าหนึ่ง ปกคลุมด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น ผักชีภูกระดึง หญ้าดอกลำโพง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว

นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญคือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา เป็นประเพณีที่ชุมชนในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนานหลายสิบปี โดยจัดขึ้นระหว่างช่วงเดือนเม.ย. ของทุกปี มีการทำบุญตักบาตร พิธีสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พิธีบายศรีสู่ขวัญ การแสดงการละเล่นและแข่งขันกีฬาพื้นบ้านของชุมชนนับเป็นการสืบสานประเพณี และส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนด้วย

นายวราวุธ กล่าวถึงลักษณะความโดดเด่นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าร้อยละ 96.65 และมีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและลักษณะของถ้ำ โดยพื้นที่ที่มีความโดดเด่น เช่น ถ้ำครอบ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย กระโถนพระฤๅษี สนสามพันปี รวมทั้งยังมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น แมวลายหินอ่อน เลียงผา เนื้อทราย เสือลายเมฆ

ในพื้นที่ยังมีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ประเพณีการแขวนทุง (แขวนธง) ซึ่งเป็นธงแบบห้อยยาวจากบนลงล่าง ทำจากวัสดุต่างๆ เช่น ผ้า กระดาษ หลากหลายสีสัน โดยชาวบ้านนำทุง หรือธง เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งมาถวายเป็นพุทธบูชาด้วย นอกจากนี้ยังมีประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีเผาข้าวหลาม เป็นต้น

“2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้ดูแลพื้นที่อุทยานทุกพื้นที่กันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธรรมชาติกลับมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ฉะนั้นมั่นใจว่า เรามีความพร้อม และเชื่อว่าเราจะยกระดับพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนได้แน่นอน” นายวราวุธกล่าว

หากพื้นที่ดังกล่าวได้ขึ้นเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแล้ว จะช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการทางระบบนิเวศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไทยจะได้การสนับสนุนงบประมาณจากภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมพื้นที่อนุรักษ์ให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยมี เป้าหมายที่จะสร้างความตระหนัก ความภูมิใจในคุณค่าของมรดกทางธรรมชาติของกลุ่มอาเซียนผ่านการสร้างและสนับสนุนเครือข่ายพื้นที่อนุรักษ์ของภูมิภาค และเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการรักษามรดกทางธรรมชาติร่วมกัน

ถ้าชุมชนในพื้นที่เกิดความเข้มแข็ง มีความภูมิใจในสิ่งที่ตนมี ก็จะเกิดการอนุรักษ์พื้นที่อย่างยั่งยืน เกิดกิจกรรมต่างๆ ภายในพื้นที่ เช่น กิจกรรมเยาวชน มีการเรียนรู้และฝึกงานในพื้นที่คุ้มครอง เกิดการจ้างงาน และแน่นอนว่าหากยกระดับเป็นอุทยานมรดกแห่ง อาเซียนได้ จะทำให้กระแสท่องเที่ยวตาม เข้ามา เกิดรัฐวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านมีรายได้ และชุมชนยังคงมีวิถีชีวิตเช่นเดิม ร่วมจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ปัจจุบันประเทศไทยมีอุทยานมรดกแห่งอาเซียน 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานฯ เขาใหญ่, อุทยานฯ ตะรุเตา, กลุ่มอุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา, กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานฯ แก่งกระจาน อุทยานฯ กุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี, อุทยานฯ หาดเจ้าไหม-เขตห้าม ล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, อุทยานฯ หมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานฯ เขาสก

“ทุกพื้นที่ที่ถูกยกระดับเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนของไทย ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางนิเวศ มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความสำคัญทางชีววิทยาเชิงวัฒนธรรม และความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเราต้องร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ไว้เพื่อส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราสืบไป” นายวราวุธระบุ

นนทวรรณ มนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน