วันที่ 12 เม.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.รับทราบรายงานของกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการอภัยโทษ ซึ่งปรับปรุงแนวทางการจัดชั้น เลื่อนชั้นนักโทษ เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น มีข้อสรุปดังนี้ 1.ยังไม่จำเป็นในการแก้ไข พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป พ.ศ.2564

2.นักโทษที่จะได้รับอภัยโทษ ไม่ว่าลดโทษหรือปล่อยตัว ต้องผ่านระยะปลอดภัยคือ รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้ว 8 ปี หลังจากนั้นจะมาดูอายุ สุขภาพ การจัดชั้น เพื่อลดโทษ ยกเว้นถวายฎีกาเฉพาะราย 3.วางหลักเกณฑ์ใหม่ที่เข้มขึ้นเกี่ยวกับการลดโทษคดีร้ายแรงในความรู้สึกของสังคม เช่น คดียาเสพติด คดีทุจริต คดีที่ศาลให้ประหารชีวิต 4.การจัดชั้นนักโทษ (ดี ดีมาก เยี่ยม) จะเข้มขึ้นและมีกฎเกณฑ์มากขึ้น 5.มีการเตรียมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องวางแผนระยะยาว และ 6.การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ ยังมีความจำเป็นอยู่ เพื่อจูงใจให้นักโทษมีความหวัง ไม่ก่อจลาจล ลดความแออัดในเรือนจำ และแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ย้ำถึงหลักเกณฑ์อภัยโทษว่าต้องได้รับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ก่อน พร้อมยกตัวอย่างนักโทษในบางคดี เช่น คดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่มีโทษจำคุก 48 ปี ติดคุกมาแล้ว 4 ปี และได้ลดมาเรื่อยๆ จนเหลือ 10 ปี และยังมีโอกาสได้ลดโทษในโอกาสต่อไปได้อีก ทั้งนี้ การขอมีได้ใน 2 กรณี คือ 1.นักโทษเขียนฎีกาเอง และ 2.รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.ขอให้ ส่วนที่วิจารณ์ว่าปลายปี 2564 มีการออก พ.ร.ฎ.บ่อยเกินนั้น นายกฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าไม่ได้ผิดกฎหมาย มีสิทธิ์จะขอได้ในโอกาสสำคัญและวันสำคัญ

ขณะที่นายกฯ สรุปว่า ให้ยึดหลักการการรับโทษ 1 ใน 3 ก่อนและให้ดำเนินการอย่างระมัดระวังที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน