จับตาราคาพลังงานหลังหมดโปร-รัฐเลิกอุ้ม

รายงานพิเศษ

แม้ช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา (4-8 เม.ย.2565) สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกและอุปทานตึงตัวน้อยลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ราย ทำให้จีนต้องประกาศล็อกดาวน์เป็นระยะเวลากว่า 9 วัน (ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค-5 เม.ย.2565)

กอปรกับองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 412 ล้านบาร์เรล สหรัฐ และของ IEA ประกาศจะปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาสตร์ (SPRs) เป็นครั้งที่ 2 จำนวน 120 ล้านบาร์เรล

ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากสหรัฐประกาศจะปล่อยเพิ่มอีก 60 ล้านบาร์เรล รวมปริมาณทั้งหมด 240 ล้านบาร์เรล คาดว่าจะช่วยทดแทนน้ำมันดิบที่หายไปจากรัสเซีย และบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวได้ในระยะสั้น

เห็นได้จากราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 98.26 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 102.78 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 98.22 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดมีความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวขึ้นอีกครั้ง จากมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมของสหรัฐและยุโรป ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับสูงในระยะข้างหน้า








Advertisement

โดย นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่า กองทุนยังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งประเมินว่ามีโอกาสเป็นไปได้ทั้งขึ้นและลง ไม่สามารถคาดเดาได้

แต่หลังจากวันที่ 30 เม.ย. จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้น กองทุนจะลดการอุดหนุนดีเซลด้วยการปรับขึ้นแบบขั้นบันได แต่จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันตลาดโลก

โดยยอมรับว่าหากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาดีเซลในช่วงแรกอาจไม่ได้ลดลงจาก 30 บาท/ลิตรมากนัก หรือจะให้ลงมาที่ 25 บาท/ลิตรทันที คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องเก็บเงินเข้ากองทุนไว้ใช้จ่ายในยามวิกฤต

ปัจจุบันกองทุนมีเงินเข้าระบบเดือนละกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 3 เม.ย. 2565 กองทุนติดลบ 42,407 ล้านบาท

ความต้องการใช้น้ำมันดีเซล มีปริมาณมากที่สุดประมาณ 65% โดยส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกขนส่งและรถโดยสาร ซึ่งรัฐอุดหนุนดีเซล 8.90 บาท/ลิตร หากรัฐไม่ตรึงดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ราคาดีเซลจะอยู่ที่ 38 บาท/ลิตร ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาดีเซลปรับขึ้นครึ่งหนึ่ง (50%) ช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.2565

“ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้น กองทุนจะลดการอุดหนุนดีเซล ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 4 บาท ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลจะอยู่ที่ 34 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 4 บาท จากปัจจุบันไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่รัฐจะทยอยปรับขึ้นทีละสเต็ป ไม่ปรับขึ้นแบบกระชากครั้งเดียว 4 บาท”

กองทุนยังศึกษาแนวทางกำหนดระดับการตรึงราคาว่าควรจะอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร หรือควรจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 32, 33 หรือ 35 บาท/ลิตรหรือไม่ ให้มีความเหมาะสม รวมทั้ง กรมธุรกิจพลังงานยังประสานคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ หารือเรื่องการปรับสัดส่วนผสมไบโอดีเซล เพื่อลดต้นทุน เนื้อน้ำมัน จากปัจจุบันอยู่ที่ดีเซล B5 และยังขอความร่วมมือ ผู้ค้าน้ำมันรักษาระดับค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร

ขณะเดียวกันยังยกเลิกการชดเชยราคาดีเซลเกรดพรีเมียม ที่ใช้กับกลุ่มรถของคนที่มีกำลังจ่ายสูง เพื่อลดภาระของ กองทุน และนำเงินในส่วนนี้ไปชดเชยให้กลุ่มที่มีความจำเป็น ขณะที่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลชั่วคราว 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2565 จะสิ้นสุดในเดือนพ.ค.นั้น จะขยายเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล

สำหรับแผนการรับมือราคาพลังงานในระยะข้างหน้า กองทุนกำลังทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2563-67 เป็น 3 ปี จาก 5 ปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ รวมถึงศึกษาแนวทางลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยอาจปล่อยให้ราคาขายปลีกเบนซินทุกชนิดปรับขึ้น/ลงสะท้อนต้นทุนจริงมากขึ้น ยกเว้นน้ำมัน E20 และ E85 ที่ใช้กับรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์)

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการขอกู้สถาบันการเงินที่คาดว่าจะมีสถาบันการเงินยื่นข้อเสนอปล่อยกู้มายังกองทุนภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้แน่นอน โดยเงินกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท น่าเข้าบัญชีกองทุนเดือนมิ.ย.2565 ก้อนที่ 2 จะกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท และก้อนที่ 3 อีก 1 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจัดทำตัวเลขขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 6 ว่าด้วยเรื่องของกองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ตาม (2) ระบุเงินอุดหนุนที่รัฐบาลอาจจัดสรรให้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น ว่ากองทุนควรขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าไหร่

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซินประมาณ 35% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ โดยรัฐมีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าน้ำมันแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และบัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ 5 บาท/ลิตร ไม่เกิน 50 ลิตร/เดือน/คน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นเดือนพ.ค.2565

ตั้งแต่เดือนเม.ย.2565 เป็นต้นไป ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ปรับขึ้น 1 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) จากราคา 318 บาท/ถัง 15 ก.ก. เป็น 333 บาท/ถัง เดือนพ.ค.จะปรับขึ้นเป็น 348 บาท/ถัง และเดือนมิ.ย. ราคา 363 บาท/ถัง แต่หากไม่มีการอุดหนุนตั้งแต่เดือนต.ค. 2563 ในปีนั้นราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 370 บาท/ถัง ปี 2564 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 417 บาท/ถัง และปัจจุบันคาดว่าราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 463 บาท/ถัง

โดยรัฐยังมีมาตรการดูแลประชาชนกลุ่ม เปราะบางที่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป จะได้รับส่วนลดเพิ่มเติมอีก 55 บาท รวมเป็น 100 บาท/3 เดือน เบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจาก งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และในส่วนของกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ส่วนลดไม่เกิน 100 บาท/ราย/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน

แม้จะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มแล้ว แต่กองทุนคาดว่าตลอด 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) จะยังคงใช้เงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้มรวมประมาณ 6,380 ล้านบาท

รัฐตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับ ยานยนต์ (เอ็นจีวี) 15.59 บาท/ก.ก. และสนับสนุนราคาเอ็นจีวีสำหรับรถแท็กซี่ที่ลงทะเบียนโครงการลมหายใจเดียวกัน 17,460 ราย สามารถซื้อเอ็นจีวีในอัตรา 13.62 บาท/ก.ก. วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน สนับสนุนโดย ปตท.

ในรอบเดือนม.ค.-เม.ย.2565 ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์/หน่วย จากเดิม -15.32 สตางค์/หน่วยในปี 2564 เป็น 1.39 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เก็บกับประชาชนอยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย และรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 จะเพิ่มขึ้นอีก 23.38 สตางค์/หน่วย เป็น 24.77 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย

หากไม่มีการบริหารจัดการใดๆ ค่าเอฟที จะเพิ่มขึ้นถึง 129.91 สตางค์/หน่วย ซึ่งในส่วนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยรับภาระค่าเอฟทีไปแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน รัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน กว่า 20 ล้านราย คิดเป็น 85% ของครัวเรือน จะได้ส่วนลดโดยคงค่าเอฟทีรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 ไว้ที่ 1.39 บาท/หน่วย

จากมาตรการที่ดังกล่าวข้างต้นในช่วงเวลา 3 เดือน จะใช้งบเบื้องต้นประมาณ 45,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระที่จะเกิดกับประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ได้มากที่สุด

ถึงเวลาที่ประชาชนต้องเตรียมรับมือกับราคาพลังงานที่จะไม่ถูกอีกต่อไปแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน