คพ. – เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสัมมนาโครงการแหล่งที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าพื้นที่ดังกล่าวประสบกับสถานการณ์ปัญหาคุณภาพอากาศโดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งส่งผล กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังนั้นการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา จะช่วยสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายแก่ภาครัฐในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

การแก้ไขปัญหามลพิษอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญ แต่ข้อมูล แหล่งกำเนิดดังกล่าวโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่น้อยมาก โครงการนี้เป็นการนำเสนอ ผลการศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งเป็นงานวิจัยกรอบความต้องการของ คพ. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัย แห่งชาติ (วช.) ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มี รศ.ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการ

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า การศึกษานี้มีการเก็บตัวอย่างพีเอ็ม 2.5 ในบรรยากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร ตลอดจนเก็บตัวอย่างพีเอ็ม 2.5 จากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม 11 ประเภท รวมทั้งเตาเผาศพ แล้วนำตัวอย่างฝุ่นมาวิเคราะห์เพื่อหาองค์ประกอบทางเคมี เช่น ออร์แกนิก คาร์บอน, เอลลิเมนทอล คาร์บอน ไอออนที่ละลายน้ำ และธาตุอื่นๆ สำหรับการทำโปรไฟล์แหล่งที่มา เพื่อหาสัดส่วนแหล่งที่มาของพีเอ็ม 2.5

ผลการศึกษาพบว่าแหล่งกำเนิดหลักมาจากแหล่งกำเนิดทุติยภูมิ การเผาในที่โล่ง การจราจร ภาคอุตสาหกรรม และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในพื้นที่ และสภาพอุตุนิยมวิทยา ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทั้งนี้ คพ.จะจัดประชุมสัมมนาวิชาการร่วมกับ วช. เรื่องแหล่งที่มาของพีเอ็ม 2.5 เพื่อบูรณาการผลการศึกษาและนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน