พระครูใบฎีกาทศพล ญาณเมธี เจ้าอาวาสวัดโสมนัสตุ้มท่า อ.เมือง จ.พะเยา เปิดเผยว่า คณะสงฆ์วัดโสมนัสตุ้มท่า จัดทำต๋าแหลว ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวล้านนา ในการลบล้างสิ่งอัปมงคลต่างๆ ตลอดจนเสริมบุญบารมี ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมายาวนานมากกว่าหลาย 100 ปี ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ชาวบ้านนำไปติดไว้ที่หน้าบ้านของตน ขจัดเภทภัยต่างๆ รวมทั้งเสริมบุญบารมี

ทั้งนี้ ต๋าแหลว หรือเฉลียว ทำจากเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่เป็นเส้น นำมามัดด้วยกันหรือรวมกันให้เป็นตาข่ายในรูปแบบต่างๆ อาทิ แบบเหลี่ยม เช่น สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม หรือแปดเหลี่ยม เป็นสิ่งที่วัดโสมนัสตุ้มท่า จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งชาวเหนือมักจะมีความเชื่อกันในเรื่องของต๋าแหลว สามารถป้องกันลบล้างสิ่งอัปมงคล เสริมบุญบารมีให้อยู่เย็นเป็นสุข

การทำต๋าแหลว เป็นความเชื่อของชาวเหนือ สัญลักษณ์ของที่ป้องกันเภทภัยต่างๆ รวมทั้งสิ่งอัปมงคล ที่จะมากล้ำกรายและให้หลีกหนีพ้นไป เป็นการเสริมบารมีเจ้าบ้านชาวล้านนา จะให้ความสำคัญกับต๋าแหลว ในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ การทำนาก็จะปักต๋าแหลว ไว้ป้องกันศัตรูพืชหรือสิ่งอื่นๆ ที่จะมาทำลายข้าวกล้าในนา ประกอบด้วยไม้ไผ่ ที่จักสานออกมาเป็นแผ่นบางๆ โดยทำเป็นเจ็ดชั้น ลักษณะเสมือนกำแพงแก้วเจ็ดชั้น มีคาเขียวผูกพันไว้โดยรอบ พร้อมส้มป่อย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมงคล รวมถึงด้ายสายสิญจน์ จะถูกผูกมัดรวมกัน และผ่านพิธีกรรมในช่วงของพิธีการสืบชะตาและเจริญพระพุทธมนต์ในช่วงวันมหาสงกรานต์ หรือเทศกาลปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา จากนั้นชาวบ้านที่ร่วมงานจะนำกลับไปยังบ้านตนเพื่อติดไว้บริเวณหน้าบ้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน