โครงการคนละครึ่งเฟส 4 เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ยอดใช้จ่ายผ่านโครงการอยู่ที่มากกว่า 6 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 26.27 ล้านคน โดยมีผู้ใช้สิทธิ์ครบ 1,200 บาท จำนวน 12.93 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 49 ของผู้ใช้สิทธิ์ทั้งหมด
ขณะที่ผู้ใช้สิทธิ์ใกล้ครบจำนวน 1,200 บาท ยังมีอยู่ราว 10.73 ล้านคน และผู้ที่ยังไม่ได้เริ่มใช้สิทธิ์ 1.2 แสนคน โดยโครงการจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายนนี้
จากนั้น วันที่ 1 พ.ค. นอกจากเป็นวันแรงงาน ยังเป็นวันแรกที่รัฐยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ปัจจัยสำคัญในภาคการผลิตและขนส่งสินค้า
ผลคือประชาชนต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงแม้โครงการคนละครึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. แต่รัฐบาลโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ปฏิเสธว่า ยังไม่มีแนวคิดต่ออายุโครงการคนละครึ่ง เฟส 5
รวมถึงเรื่องการปรับสูตรช่วยจ่ายเงินในโครงการ จากสูตรเดิมรัฐช่วยจ่ายร้อยละ 50 ประชาชนจ่ายร้อยละ 50 มาเป็นรัฐช่วยจ่ายแค่ 25 ประชาชนจ่ายเพิ่มเป็น 75
รมว.คลัง ย้ำว่าการจะต่ออายุมาตรการหรือไม่ ต้องติดตามประเมินสถานการณ์ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและการกู้เงิน
อีกทั้งเวลานี้ดัชนีชี้วัดต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประชาชนเริ่มกลับไปทำงาน มีรายได้ประจำ เพิ่มขึ้น ทำให้มีขีดความสามารถจับจ่ายมากขึ้น จึงต้องพิจารณาว่าความจำเป็นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องลดลงหรือไม่
สรุปคือยังไม่มีอะไรแน่นอนสำหรับคนละครึ่งเฟส 5

ที่ผ่านมาโครงการคนละครึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ว่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยไม่มีเงินพอที่จะเติมเงินเข้าไปในแอพเป๋าตัง ทำให้โครงการไม่ได้ผลเท่าที่ควร
อีกทั้งยังเป็นการแจกเงินให้ประชาชนใช้สอยแบบวันต่อวัน ใช้แล้วก็หมดไป ไม่ได้เป็นการสร้างรากฐานเศรษฐกิจ ผลลัพธ์โครงการจึงไม่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
บางคนจึงเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการแจกเงินผ่านโครงการดังกล่าว เปลี่ยนมาเน้นจ้างงานหรือสร้างงานเพื่อให้ประชาชนมีรายได้แน่นอนมั่นคง ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็จะต้องกู้เงินมาต่ออายุโครงการไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน