วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) รายงานแนวโน้มการตลาดชุดใหม่ผ่านวิจัย “NOSTALVERSE การตลาดในอดีตเชื่อมสู่โลกอนาคต” พบการถวิลหาอดีตของผู้บริโภค สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ด้วยความผูกพัน และพัฒนากลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ทางธุรกิจสู่อนาคตได้อย่างน่าประหลาดใจ หลังสำรวจข้อมูลอินไซด์ มุมมองของผู้บริโภคต่าง Generation X, Y และ Z ถึงความทรงจำในอดีต แบรนด์ในความทรงจำกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 และความคิดเห็นต่อโลกอนาคต Metaverse

จากข้อมูลวิจัยพบว่า คนไทย 3 ใน 4 มีความทรงจำและคงทัศนคติที่ดีกับแบรนด์ และมากกว่า 50% ยังคงให้การสนับสนุนแบรนด์ในความทรงจำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผลสำรวจอันดับ 1 ที่สุดแบรนด์ในความทรงจำของคนต่างเจเนอเรชั่น พบว่า

1.เจนเอ็กซ์ ยกให้แบรนด์ Levi’s (ลีวายส์) 2.เจนวาย ยกให้แบรนด์ NOKIA (โนเกีย) และ 3.เจนซี ยกให้แบรนด์ Nike (ไนกี้)

ข้อมูลวิจัยชี้ว่า คนไทย 91.4% เห็นว่าความทรงจำ “มีคุณค่า” จึงเป็นการยืนยันว่า ทำไม Nostalgia Marketing ถึงสำคัญ และขับเคลื่อนแบรนด์และธุรกิจไปข้างหน้าได้อย่างมาก

ขณะเดียวกัน คนไทย 67.9% เห็นว่า ความทรงจำ “เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข” ช่วยเพิ่มพลังให้กับปัจจุบันได้ และมักจะนึกถึง พูดถึง และชอบเล่าหรือแชร์เรื่องราว ในอดีตให้คนอื่นฟัง แบ่งเป็น 73.2% นึกถึงความทรงจำในอดีต 65.9% พูดถึงความทรงจำในอดีต และ 59.1% เล่าความทรงจำในอดีตให้ผู้อื่นฟัง

“ช่วงเวลาในชีวิตที่มีความสุขมากที่สุดและเป็นช่วงที่อยากย้อนอดีตกลับไปมากที่สุดของคนทุกเจเนอเรชั่น คือ ช่วงมัธยม ด้วยเหตุผลคือ 1.อยากกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด 49.4% 2.อยากกลับไปช่วงที่มีความสุข 48.5% และ 3.อยากกลับไปบอกสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต 27.6% อีกทั้งมักจะมี “เพื่อน” อยู่ในทุกความทรงจำ ซึ่งจุดนี้แบรนด์สามารถนำไปเตรียมแผนปรับกลยุทธ์การตลาดได้เลยทีเดียว” ผลวิจัยระบุ

นอกจากนี้ยังค้นพบผลวิจัยแบรนด์ในความทรงจำกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 สุดอินไซด์ของแต่ละเจเนอเรชั่นที่น่าสนใจมากอย่าง ท็อป 3 แบรนด์ในความทรงจำที่ดีมากกว่า 50% ดังนี้

เจนเอ็กซ์ คือ 1.ลีวายส์ 2.นมตราหมี และ 3.นันยาง ด้านเจนวายคือ 1.โนเกีย 2.เนสเล่ ไมโล และ 3.โคคา โคล่า ขณะที่เจนซี อันดับ 1.ไนกี้ 2.จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และ3.PEPTEIN (เปปทีน)

โดยผลวิจัยชี้ว่า แต่ละเจน ยังคงให้การสนับสนุนแบรนด์ในความทรงจำอย่างต่อเนื่อง นั่นแสดงว่า แต่ละแบรนด์ต้องมีกลยุทธ์เด็ดที่สามารถครองใจคนแต่ละเจนได้ นำไปสู่ความสอดคล้องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยเรียงลำดับมากไปน้อย ดังนี้

1.รูปโลโก้ การใช้สี แสง องค์ประกอบ ภาพ การตกแต่ง จัดวางสินค้าหน้าร้าน เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น บุคคล มาสคอต เช่น (แอปเปิ้ล) KFC (เคเอฟซี) ที่เห็นโลโก้แล้วจดจำได้ ทันที 2.สัมผัส การจับต้องทั้งตัวสินค้า การบรรจุภัณฑ์หรือสิ่งของต่างๆ ใบหน้า ร้านค้า ครอบคลุมตั้งแต่วัสดุ อุณหภูมิ น้ำหนัก และรูปทรง เช่น แผ่นเลย์ ขวดโค้ก โทรศัพท์แบล็กเบอร์รี่ 3.กลิ่น ตัวกระตุ้น อารมณ์ความรู้สึกที่มีความแนบเนียนมากที่สุด เช่น กลิ่นหอมของแป้งร้านโตเกียว กลิ่นสบู่นกแก้ว หรือน้ำอบ 4.เสียง การได้ ยินเสียงเดิมซ้ำบ่อยๆ จะสร้างความคุ้นเคยสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์เช่น เสียงรถวอลล์ เสียงของ 20 Century Fox ก่อนดูหนัง เสียงเพลงอินโทรรายการกระจกหกด้าน และ 5.รส ที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อลิ้มลอง

ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยอื่นเป็นตัวกระตุ้นได้ อย่าง การรีวิว เช่น รสชาติของโค้กหรือ เป๊ปซี่ ไมโลหรือโอวัลติน และน้ำสิงห์ อีกทั้งคนไทย 72.3% คิดว่าในโลกอนาคตน่า จะเก็บความทรงจำในอดีตไว้ได้

“ล้วนเป็นคุณค่าและความทรงจำที่ประทับใจจากรุ่นสู่รุ่น”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน