เทคโนโลยี ‘ฝากไข่’ ช่วยการมีบุตรของสตรีวัยเจริญพันธุ์เป็นที่ยอมรับกันมากว่า 30 ปีแล้ว ในประเทศไทยก็กำลังเป็นที่สนใจของกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน ที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตร เทคโนโลยีการฝากไข่จึงค่อนข้างเป็นที่นิยมของผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรในอนาคต

พญ.ศศวิมล ปรีชาพรกุล หรือ หมอแจน ผู้อำนวยการแพทย์ประจำจีเนีย ไอวีเอฟแอนด์เจเนติกส์ สหคลินิก จาก Genea ผู้นำด้านเทคโนโลยีและทีมพัฒนาการมีบุตรด้วยวิธีการฝากไข่ ให้ข้อมูลการฝากไข่ว่า วิทยาการการแพทย์ปัจจุบันได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องการมีบุตรในวัยที่เริ่ม ยากขึ้น การเก็บไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุ 25-28 ปี จะให้ดีคือไม่ควรเกิน 35 ปี และไข่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่า 10 ปี ด้วยการแช่แข็งซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี แต่ไม่ได้การันตีว่าเมื่อเก็บไข่ไว้แล้วจะสามารถมีบุตรได้แน่นอนในอนาคต แต่เป็นการเพิ่มโอกาสมีลูก ที่มีมากกว่าคนที่ไม่ได้เก็บไข่ไว้เลย

“เทคโนโลยีที่ดีจะมีผลมากที่จะช่วยให้คนไข้มีบุตรได้ตาม ความตั้งใจ เพราะทุกอย่างของกระบวนการคือการเลียนแบบธรรมชาติ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการรักษาของแพทย์ก็มีผลควบคู่กันไปด้วยกับเทคโนโลยี ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ปัจจุบันยิ่งล้ำหน้าไปอีกด้วยการที่ครอบครัวสามารถดูการเติบโตตัวอ่อนไปด้วยกันได้เลย” หมอแจนกล่าวและว่า การฝากไข่คือการวางแผนครอบครัว จะมีลูกกี่คน เมื่อไร ตอนอายุเท่าไร ห่างกันกี่ปี และยังมีโอกาสเลือกเพศของลูกได้ หรือมีลูกในช่วงที่เตรียมความพร้อมไว้แล้ว หรือกรณีป่วยมะเร็งหรือโรคที่ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด ถ้าตรวจพบโรคเร็วก็มีเวลามากพอที่จะเก็บไข่

สเปิร์มก็มีความสำคัญ สามารถเก็บได้ตลอดเช่นกัน เพราะเป็นการเก็บรักษาแบบผลึกแก้ว ไม่ทำลายเซลล์ ผู้ชายเมื่ออายุเยอะสเปิร์มไม่แข็งแรงตามไปด้วย การเคลื่อนไหวลดลง รูปร่างผิดปกติมากขึ้น สเปิร์มจึงมีจำนวนน้อยลง คุณภาพน้อยลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน