โลกใบใหญ่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตมากมาย ธรรมชาติทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน แยกย่อยเป็นระบบนิเวศมากมาย ทั้งทางบก ทางน้ำ รวมไปถึงระบบนิเวศป่า ชายเลน

“ที่นี่…ป่าชายเลนปากน้ำปราณ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมากเป็นพิเศษ เพราะมีเรื่องของน้ำขึ้น-น้ำลงมาเกี่ยวโยงด้วยค่ะ” พี่เม นิดานุช สังข์เปีย เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกเล่า เรื่องราวระบบนิเวศป่าชายเลนให้เด็กๆ ฟัง

ตลอดเส้นทางศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนศูนย์ฯ สิรินาถราชินี มีจุดเรียนรู้มากกว่า 80 จุด ในวันนี้จุดที่พี่เมพาเด็กๆ มาเรียนรู้เป็นพิเศษคือจุดเรียนรู้ลานศึกษาห่วงโซ่อาหารในป่าชายเลนที่มีสัญลักษณ์ “อินฟินิตี้” สื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันในระบบนิเวศแห่งนี้

“พี่เมครับ เราลงไปได้ไหมครับ” ด.ช. ปราณอารักษ์ เหล่าลาภผล หรือ นาวา นึกสนุกกับลานตรงหน้าที่มีการออกแบบใช้เชือกเส้นใหญ่มัดเป็นตาข่ายกว้าง รับน้ำหนักได้ 200 กิโลกรัม มองผ่านเห็นหน้าเลนที่มีสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย

“ลองเงยหน้ามองด้านบนดูนะคะ เห็นอะไรกันบ้าง” พี่เมถามเด็กๆ

“เห็นต้นโกงกางใบเล็กครับ/ค่ะ” เด็กๆ ตอบทันที

ในระบบนิเวศทุกระบบแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และ ผู้ย่อยสลาย ผู้ผลิตหมายถึงกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารได้ด้วยตนเอง เปลี่ยนสารอินทรีย์เป็นอาหารด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง

กลุ่มต่อมา ผู้บริโภค กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารได้ด้วยตนเอง จำเป็น ต้องกินสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อให้ได้รับสารอาหารและพลังงาน แบ่งย่อยเป็นกลุ่มสัตว์กินพืช สัตว์กินเนื้อ สัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อ และสัตว์ที่กินอินทรียสาร








Advertisement

กลุ่มสุดท้าย ผู้ย่อยสลาย เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กแต่มีความจำเป็นในการจัดการสิ่งใหญ่ๆ ผู้ย่อยสลายไม่สามารถสร้างอาหารด้วยตัวเอง แต่ได้รับสารอาหารและพลังงานจากการย่อยสลาย สารอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์ ทำให้ซากสิ่งต่างๆ มีขนาดเล็กลงจนผู้ผลิตสามารถดูดซึมกลับไปหล่อเลี้ยงใช้ประโยชน์ต่อได้ เกิดการหมุนเวียนเป็นวัฏจักรห่วงโซ่อาหาร

“เด็กๆ ลองมองดูที่ต้นไม้ด้านบนนะคะ แล้วดูซิว่าต้นไม้หรือต้นโกงกางในป่าชายเลนของเราทำหน้าที่อะไรในระบบนิเวศนี้ นอกจากนี้ลองก้มหน้าลงดูซิว่าที่หน้าเลนมีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง และพวกมันทำหน้าที่อะไร” พี่เมให้เด็กๆ ลองสังเกตธรรมชาติตรงหน้า

“ผมเห็นปูกำลังกินใบไม้และมีหอยนางรมเกาะตามรากโกงกางด้วยครับ พวกมันน่าจะทำหน้าที่เป็นผู้บริโภค” นาวาตอบหลังจากสังเกตสิ่งมีชีวิตที่หน้าเลน

หอยนางรม

ลานห่วงโซ่อาหาร

ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี

ต้นโกงกาง

“อินฟินิตี้” ห่วงโซ่อาหาร

ป่าชายเลนปากน้ำปราณ

“วัฏจักรห่วงโซ่อาหารน่าสนุกตรงที่เราจะเข้าใจหลักการของธรรมชาติต่างๆ เข้าใจหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เราจะยิ่งอยากรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติไว้ให้ดีที่สุด เริ่มต้นจากอะไรดีคะเด็กๆ” พี่เมโยนคำถามไปให้เด็กๆ

“เริ่มจากการไม่ตัดต้นไม้ เพราะถ้าต้นไม้หมดโลก สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็จะไม่มีอาหาร สุดท้ายมนุษย์ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ใช่ไหมครับ” นาวาตอบ

ในโลกปัจจุบันต้องยอมรับว่าระบบนิเวศต่างๆ ไม่สมบูรณ์เช่นแต่ก่อน ส่วนสำคัญที่ทำให้ความสมบูรณ์หายไปมาจากฝีมือมนุษย์ที่มีชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ระบบนิเวศต่างๆ เสื่อมถอย สัตว์บางชนิดถูกล่าจนสูญพันธุ์ พื้นที่ธรรมชาติซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิดถูกมนุษย์รุกล้ำจนสัตว์ไม่มีที่อยู่อาศัยและสูญพันธุ์ ความสมดุลเหล่านี้ถูกมนุษย์ทำลายมาโดยตลอด การเรียนรู้เรื่องราวห่วงโซ่อาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของธรรมชาติ

เรียนรู้ห่วงโซ่อาหารด้วยกันในทุ่งแสงตะวัน ตอน ใครกิน ใครก่อน ออกอากาศวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และเวลา 07.30 น. ทางเพจทุ่งแสงตะวัน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน