คลังสั่งเพิ่มวงเงินออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพิ่มขึ้นเป็น 1.65 แสนล้านบาท หลังประชาชนให้ความต้องการสูง ดอกเบี้ย เฉลี่ยปีละ 2.9-3.6% ยืนยันทั้งปีกู้ไม่เกิน 1.3 ล้านล้านบาท

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลังมีแผนระดมทุนผ่านพันธบัตรต่างๆ ทั้งสิ้น 1.1-1.3 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งได้มีการปรับแผนการจำหน่ายพันธบัตร ออมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 1.65 แสนล้านบาท สูงสุดเท่าที่เคยมีการดำเนินการมาจากเดิมที่ 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากตลาดมีความต้องการ ค่อนข้างสูง อัตราผลตอบแทนก็ได้มีการปรับให้สะท้อนสภาพตลาดที่แท้จริงเพิ่มมากขึ้น ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก

“แผนระดมทุนปีงบประมาณ 2565 ที่ 1.1-1.3 ล้านล้านบาทนั้น การดำเนินการจริงคงยึดขอบล่างเป็นหลัก เพื่อไม่ให้ตลาดเกิดโอเวอร์ซับพลาย โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น นักลงทุน ส่วนใหญ่ก็เริ่มทยอยกลับมาลงทุนในพันธบัตร”

นางแพตริเซียกล่าวว่า แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะส่งผลกระทบกับการกู้เงินของรัฐบาล แต่ที่ผ่านมา สบน. ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง โดยการกู้เงินส่วนใหญ่ กว่า 80% จะเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ จะช่วยทำให้มีการล็อกต้นทุนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีเครื่องมืออื่นๆ ในการช่วยบริหารจัดการด้วย และการกู้เงินก็ไม่ได้ดูแค่การกู้ระยะสั้น แต่ดูความเหมาะสม เป็นหลัก เพราะหากกู้ระยะสั้นมากเกินไปก็อาจจะเป็นความเสี่ยง เรื่องต้นทุน

ทั้งนี้ สบน. เตรียมเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุขวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำหน่าย 2 รุ่นอายุ โดย 1. รุ่นออมเพิ่มสุขบนวอลเล็ต สบม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ให้แก่ประชาชน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 2.90% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ย 3.60% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป (ผู้เยาว์จะต้องลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง และไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครอง)จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 13-30 มิ.ย. 2565

2. รุ่นออมเพิ่มสุขวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่คลังกำหนด ผ่าน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบ่งจำหน่ายเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 จำหน่ายให้กับประชาชนแบบจำกัดวงเงินซื้อ และช่วงที่ 2 จำหน่ายให้กับประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่กระทรวงการคลังกำหนดแบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ ลงทุนได้ตั้งแต่ 1 พันบาท หากเป็นผู้เยาว์ ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่าย และได้รับความยินยอมจาก ผู้ปกครองก่อนจึงจะสามารถซื้อพันธบัตรได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน