พูดถึงทุเรียน ‘เปิ่งเคลิ่ง’ เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นชื่อนี้ แต่สำหรับคนใน ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก รู้จักกันดีเพราะพื้นที่นี้ปลูกทุเรียน เงาะ และอโวคาโดมานานนับ 100 ปี

ผู้ที่ได้ลิ้มชิมรสทุเรียนพันธุ์หมอนทองหรือพวงมณีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติดีไม่แพ้ทุเรียนในภาคตะวันออกหรือที่ไหนๆ และยิ่งถ้าปีไหนฝน ไม่ตกชุกยิ่งอร่อยสุดๆ

ขณะที่ราคาไม่แพง หมอนทอง ก.ก.ละ 100-130 บาท แต่ถ้าเป็นพวงมณีราคาต่ำกว่านี้ นอกจากนั้นก็มีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองขายกันก.ก.ละ 60-75 บาท หากไปซื้อถึงที่จะได้ราคาถูกกว่านี้

ช่วงปกติ ถ้าใครมาที่บ้านเปิ่งเคลิ่ง มักเดินข้ามฟากไปยังฝั่งเมียนมาที่อยู่ติดกัน แต่ตอนนี้จุดผ่านแดนปิดเนื่องจากปัญหาโรคโควิด-19 และยังไม่รู้จะเปิดเมื่อไหร่

วันก่อนมีโอกาสไปบ้านเปิ่งเคลิ่ง โดย ‘คุณโย อุดแก้ว’ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเปิ่งเคลิ่ง หมู่ 9 พาไปเยี่ยมชม 2 สวน ที่แรกเป็นสวนลุงชาติของ ‘คุณขวัญนภา ธีระประวัติ’ ซึ่งปลูกผลไม้หลากหลายทั้งทุเรียน เงาะ สะตอ และหมาก ฯลฯ ในเนื้อที่ 25 ไร่

คุณขวัญนภาเล่าว่า เริ่มทำสวนผลไม้ ปี 2555 ปลูกทุเรียนประมาณ 700 ต้น มีหมอนทอง พวงมณี และพันธุ์สายน้ำผึ้ง อันเป็นพันธุ์พื้นบ้านผสมกับหมอนทอง รสชาติอร่อยกว่าพันธุ์พื้นบ้าน เหมือนหมอนทอง เนื้อเหลือง สวนเพิ่งขายผลผลิตได้ปีนี้เป็นปีที่ 3 ปีที่แล้ว ปีก่อนได้ประมาณ 10-12 ตัน ขายก.ก.ละ 100 บาท ปีที่แล้วมีล้งมารับซื้อและเข้ามาตัดเองถึงสวน ปีนี้ก็เช่นกัน








Advertisement

ในปีนี้ผลผลิตน่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว จุดเด่นของทุเรียนเปิ่งเคลิ่งคนกินบอกชอบ ทุเรียนจันทบุรีกับที่นี่ไม่เหมือนกันบางคนบอกว่ามีรสชาติมัน หวาน หอม กลิ่นไม่ฉุน สนใจทุเรียนสวนลุงชาติติดต่อโทร. 09-8341-3579

สำหรับการปลูกนั้น หลังจากตัดลูกออกหมดแล้วใส่ปุ๋ยขี้วัวขี้ควายและใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นการบำรุงต้น หลังจากนั้น 2 เดือนใส่อีกรอบหนึ่ง พอใกล้ออกดอกก็ใส่อีกรอบ ที่นี่ทุเรียนออกดอกเดือนต.ค.-พ.ย. ถ้ามีลูกจะหยุดใส่ปุ๋ยเคมีเลย

ก่อนหน้านี้เคยปลูกทุเรียนหมอนทองมาแล้ว แต่ต่อมาตายหมด เลยมาปลูกใหม่ ใช้น้ำประปาภูเขาแบบสปริงเคิล ซึ่งการปลูกทุเรียนมักเจอปัญหาโรคใบเหลือง เริ่มเป็นตอนหมดฝนเข้าหน้าหนาว แก้ปัญหาด้วยการฉีดยา ฆ่าเชื้อรา

คุณขวัญนภาบอกว่า นอกจากปลูกผลไม้แล้ว ยังปลูกหมากด้วย เป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลอะไร ขายหมากสดก.ก.ละ 50 บาท หมากต้นหนึ่งให้ผลผลิตประมาณ 8 ทะลาย บางต้นน้อยกว่านี้ ช่วงเดือน 3-4 จะไม่มีผลผลิต หมากใช้เวลา 5 ปีถึงออกลูก แต่ถ้าบำรุงดี 4 ปีก็ออกลูกแล้ว

ระหว่างที่ชมสวนอยู่นั้น มีทุเรียนพวงมณีตกมา 1 ลูกเลยได้ชิมกัน รสชาติหวาน เนื้อเหลืองแห้ง จนหลายคนอยากซื้อกลับบ้านแต่ต้องผิดหวังเพราะเจ้าของสวนไม่รู้ว่าลูกไหน แก่ลูกไหนสุก ต้องรอให้ตกอย่างเดียว

อีกสวนที่ได้ไปคือ ‘สวนปิยพงษ์-กิตติทัต’ ของคุณไมตรี เพียหาเทศ ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบ และที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านไม้ผล จึงมีคณะต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานตลอด โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออก ถ้าใครไปตอนนี้ทางสวนก็มีทุเรียนหมอนทองขายก.ก.ละ 130 บาท

คุณไมตรีให้ข้อมูลว่า เมื่อก่อนทำสวนทุเรียนอยู่ที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ 30 ไร่ ปลูกทุเรียน เงาะ และยาง แต่ละปีได้กำไร 2-3 แสนบาท พอปี 2554-2555 น้ำท่วม เกิดความเครียด เลยขับรถมาเที่ยวหาเพื่อนแถวอุ้มผาง มาแล้วก็รู้สึกชอบพื้นที่ตรงนี้ พอปี 2555ตัดสินใจย้ายจากนครศรีธรรม ราชมาทำสวนทุเรียนที่นี่ สวนที่นครฯ ให้ลูกชายทำสวนทุเรียนต่อไป อยู่ที่นี่สักพักก็รวมกลุ่มเกษตรกรปลูกไม้ผล ใช้ชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง ตอนนี้มีสมาชิก 40-50 คน ตนเองเป็นรองประธาน มีอาจารย์ภวดล ทองเกษม เป็นประธาน

สวนแห่งนี้มีเนื้อที่ 20 ไร่ ประมาณ 700 ต้น ปลูกทุเรียนหมอนทอง ก้านยาวและพวงมณีบ้าง เป็นการปลูกแบบผสมผสาน จะใช้สารเคมีเมื่อจำเป็นจริงๆ แต่ไม่เยอะ ส่วนมากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ดูแลแบบธรรมชาติ ใส่ปุ๋ยกับยาไปตามปกติ ผลผลิตออกช่วงเดียวกับกับภาคตะวันออก

ในการปลูกนั้นถ้าเข้าฤดูหนาวเย็นจัดดอกมักร่วง เดือนพ.ย.ทุเรียนเริ่มออกดอก ช่วงนั้นใส่ปุ๋ยเคมี เพื่อกระตุ้นดอก หลังจากนั้นนำปุ๋ยอินทรีย์มาผสม ใส่บำรุงใบกับต้น

ส่วนระบบให้น้ำให้เป็นช่วง ใช้น้ำธรรมชาติ ที่นี่น้ำอุดมสมบูรณ์ ช่วงทุเรียนติดลูกใส่ปุ๋ยอินทรีย์ห่างกันประมาณ 1 เดือน ส่วนช่วงที่ออกดอกให้น้ำปกติ ปัญหาที่เจอคือรากเน่า โคนเน่า ใช้ไตรโคเดอร์มาป้องกันไว้ก่อน

“ทุเรียนของเราไม่มีกลิ่น คิดว่าน่าจะเกี่ยวกับแร่ธาตุในพื้นที่ ปีที่แล้วให้ผลผลิตน้อยกว่าปีนี้ ปีก่อนได้ 18-19 ตัน ต้นหนึ่งออกลูกประมาณ 30-40 ลูก ปีที่แล้วขายล้งได้ก.ก.ละ 105 บาท อากาศที่นี่กับที่นครศรีธรรมราชแตกต่างกันเพราะอากาศที่เปิ่งเคลิ่งร้อนกว่า ส่วนคุณภาพทุเรียนเทียบกันแล้วเหมือนๆ กัน แต่ที่นครศรีธรรมราชกลิ่นแรงกว่า ถ้าสนใจเข้ามาดูสวนหรือซื้อผลผลิตติดต่อเบอร์ 08-0745-1093 ซึ่งในสวนยังปลูกกล้วยหอมทองด้วย”

คุณไมตรีบอกว่า เมื่อก่อนบ้านเปิ่งเคลิ่งมีเกษตรกรปลูกผลไม้ไม่มากเท่าไหร่ แต่ระยะหลังปลูกกันเพิ่มขึ้น และทาง จ.ตากอยากให้รวมกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งแต่ละคนมีเนื้อที่เฉลี่ยคนละประมาณ 10 ไร่

ระหว่างที่สนทนากันนั้น คุณไมตรีนำทุเรียนหมอนทองลูกใหญ่มาแกะให้ทานกัน รสชาติหวาน มัน และไม่มีกลิ่นอย่างที่เจ้าของสวนพูดจริงๆ ทานเม็ดหนึ่งแล้วก็ต้องทานต่อเม็ดที่ 2 และ 3 พร้อมกับสั่งซื้อกลับบ้านคนละหลายลูก

ใครไป อ.อุ้มผางขอแนะนำว่าต้องชิมทุเรียนเปิ่งเคลิ่งให้ได้ ไม่เช่นนั้นถือว่ายังไปไม่ถึงเมืองชายแดนแห่งนี้

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน