จากการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2560 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ในการติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ ได้แก่ ทับหลัง 2 รายการ จาก Asian Art Museum เมื่อปี 2564

เมื่อการสร้างการรับรู้ของคุณค่าโบราณวัตถุที่ได้กลับมาอยู่ในถิ่นกำเนิด แก่ผู้ ครอบครองโบราณวัตถุของไทยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จึงได้แจ้งขอ ส่งมอบโบราณวัตถุที่ครอบครองอยู่ให้กับประเทศไทย โดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากร รวมจำนวนถึงปัจจุบันแล้ว 11 ราย ได้แก่

การรับมอบโบราณวัตถุภายในประเทศ จากนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ และภรรยา เมื่อปี 2564 ประกอบด้วย เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี จากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนมากถึง 164 รายการ มูลค่ารวม 82 ล้านบาท เพื่อให้เก็บรักษาเป็นสมบัติ ของชาติ โดยกรมศิลปากรได้นำไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เครื่องปั้นดินเผาลพบุรีเป็นโบราณวัตถุอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-19

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทย ในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้รับมอบโบราณ “ครอบพระเศียรทองคำ” ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นผู้แทนประเทศไทยรับมอบจากชาวอเมริกัน และส่งให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา

“ทางสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ตรวจสอบครอบพระเศียรทองคำแล้ว พบว่าเนื้อวัสดุเป็นทองคำ 95% เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูป ประกอบด้วยส่วนครอบพระเศียรกว้าง-ยาว 14×17.6 ซ.ม. หนัก 12.7 กรัม และส่วนพระรัศมีสูง 12.7 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ซ.ม. หนัก 29.9 กรัม เทคนิคดุนทองและตีทอง เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นโบราณวัตถุศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยนิยมใช้ประดับพระเศียรพระพุทธรูปแกะสลักจากหิน โดยกรมศิลปากรจะได้นำเข้าเก็บรักษา ณ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อการศึกษาและการจัดแสดงในนิทรรศการต่อไป” นายอิทธิพลกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าจากสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ที่ได้นัดหมาย เข้าเจรจาเพื่อตรวจสอบโบราณวัตถุจากประเทศไทยที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดนเวอร์ ประกอบด้วย ประติมากรรมสำริดจากแหล่งโบราณคดีประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นโบราณวัตถุที่อาจได้รับกลับคืนประเทศไทยในลำดับถัดไป

ทั้งนี้ ไทยต้องให้ทางสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ดำเนินการในทางกฎหมายก่อน จึงจะทราบผลในที่สุด

คณะกรรมการ ยังได้หารือถึงการนำทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ไปจัดแสดงในพื้นที่แหล่งที่มา คือ ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สะด๊กกอกธม จังหวัดสระแก้ว และศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมศิลปากรที่มีระบบการดูแลรักษาความปลอดภัย

“ร่วมอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ให้คงอยู่สืบไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน