เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) จัดงานสักการบูชาฮดสรงน้ำ “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” พุทธปฏิมาประจำเมืองมหาสารคาม ที่บริเวณหน้าหอพระ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง)

กิจกรรมเริ่มจากช่วงเช้า จัดเสวนา ย้อนรอยพระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก ช่วงบ่าย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต ตั้งขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะ ดอกไม้และน้ำ ที่บริเวณลานกิจกรรม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีขบวนฟ้อนรำจากนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และขบวนกลองยาว โดยนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เคลื่อนขบวนเข้ามาสู่บริเวณงาน

ต่อมา นายประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วย อาจารย์ทม เกตุวงศา ผอ.สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภช และอาราธนาพระเจ้าลงสรง จากนั้นคณะผู้บริหาร บุคลากร นิสิต ประชาชนที่มาร่วมในงาน ร่วมกันฮดสรงน้ำพระพุทธกันทรวิชัยฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับความเป็นมา พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก จัดสร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525 เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองมหาสารคาม

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปัจจุบัน) หัวแรงใหญ่ คือ อาจารย์อาคม วรจินดา ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน พร้อมด้วย คณาจารย์ บุคลากร ทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย โดยมี พล.ท.ลักษณ์ ศาลิคุปต์ แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดในภาคอีสาน พร้อมข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เป็นกรรมการ








Advertisement

ดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูป แบบเอกลักษณ์ของชาวอีสาน โดยมีการศึกษาค้นคว้ารูปแบบจากพระพิมพ์ดินเผาซึ่งปรากฏพบอยู่ในภาคอีสานหลายแห่ง ท้ายสุดได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรใช้พระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบที่บริเวณโคกดอนพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เป็น ต้นแบบ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร พระพักตร์อิ่มเอิบบริสุทธิ์แสดงถึงความหลุดพ้น ประทับนั่งบนดอกบัวหงาย อันหมายถึงปรัชญาอันเป็นญาณนำไปสู่นิพพาน ส่วนเรือนแก้วด้านหลังองค์พระแสดงถึงรูปคลื่นกิเลสตัณหาและไฟราคะ อันเป็นวัฏฏะของการเวียนว่ายตายเกิด

สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยปาละวะหรือคุปตะตอนปลายตรงกับสมัยพุทธศตวรรษ ที่ 13

วันที่ 20 เมษายน 2524 พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)ได้เสด็จฯ มาที่ มศว มหาสารคาม พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรม ราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้า น้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติย ราชนารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี เททองหล่อ ณ พลับพลาพิธีข้างสนามกีฬามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ปัจจุบัน คือ ฝั่งด้านโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน) ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ ว่า “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” โดยพระพุทธรูปองค์นี้ สร้างจากเนื้อโลหะสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 35 นิ้ว สูง 82 นิ้ว พร้อมกับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ไว้ ณ ผ้าทิพย์ด้านหน้าฐานพระพุทธรูป

ในคราวเดียวกัน นอกจากสร้างองค์พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก ยังได้มีการจำลองพระพุทธรูปกันทรวิชัย ขนาดหน้าตัก 12 นิ้ว จำนวน 99 องค์ ทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่ทุกจังหวัดในภาคอีสาน นำไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ส่วนที่เหลือทางมหาวิทยาลัยได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนเช่าบูชาองค์ละ 9,999 บาท

อีกทั้ง ยังจัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระพุทธกันทรวิชัย ลักษณะเป็นเหรียญจอบเนื้อทอง

ต่อมาได้มีการสร้างหอพระขึ้น บริเวณหน้าสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมกับอัญเชิญ “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” ขึ้นประดิษฐานในหอพระดังกล่าว

นับแต่นั้นมาพระพุทธรูปองค์นี้ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม ตราบจนปัจจุบัน

เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน