ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และ พ.ศ.2565 มีสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกกว่า 834 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 440 แห่ง ซึ่งครอบคลุมสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 821 แห่ง สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 10 แห่ง และสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วธ.) จำนวน 3 แห่ง

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาที่ขอเข้ารับการประเมินแบ่งออกเป็น ระยะที่ 1 การประเมินพิจารณาจากเอกสาร SAR ที่ทางหน่วยงานต้นสังกัดส่งมายัง สมศ. จำนวน 719 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมีระดับคุณภาพดี โดยมาตรฐานที่ 1 คุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาที่พึงประสงค์ กว่าร้อยละ 75 อยู่ในระดับดี มาตรฐานที่ 2 การจัดการอาชีวศึกษา กว่าร้อยละ 77 อยู่ในระดับดี และมาตรฐานที่ 3 การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กว่าร้อยละ 72 อยู่ในระดับดี

จากผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่าต้นสังกัดมีการสร้างความรู้ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้แก่สถานศึกษาในการเขียนรายงานประเมินตนเองที่ครอบคลุมและสะท้อนผลการดำเนินงานของสถานศึกษาได้อย่างชัดเจน

การประเมินระยะที่ 2 เป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมออนไลน์ (Site-visit) ตามความสมัครใจ มีสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาขอเข้ารับการประเมินจำนวน 115 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมีระดับคุณภาพดีเยี่ยม โดยมาตรฐานที่ 1 คุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาที่พึงประสงค์ กว่าร้อยละ 40 อยู่ในระดับดีเยี่ยม มาตรฐานที่ 2 การจัดการอาชีวศึกษา กว่าร้อยละ 37 อยู่ในระดับดีเยี่ยม และมาตรฐานที่ 3 การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กว่าร้อยละ 40 อยู่ในระดับดีเยี่ยม

ทั้งนี้ เป็นการประเมินคุณภาพภายนอกตามบริบทของสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษา จากผู้ประเมินภายนอกที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจในบริบทของสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาเป็นผู้ที่มีความสามารถชี้ให้สถานศึกษาเห็นจุดที่ควรพัฒนา พร้อมให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ตรงประเด็น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาในการนำไปปรับใช้ หรือเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน สร้างทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาไทยให้ก้าวทันบริบทโลก

ด้านนายวณิชย์ อ่วมศรี รักษาการประธานกรรมการ คณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาด้านการอาชีวศึกษา สมศ. กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอกในแต่ละรอบ สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาจะได้รับข้อเสนอแนะจากทาง สมศ. ซึ่งหากสถานศึกษานำไปปรับใช้ตามคำแนะนำก็จะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษา และหลังการประเมินสมศ. ก็ยังคงติดตามร่วมกับ สอศ. เพื่อเป็นที่ปรึกษาหากมีข้อปัญหาในการนำผลประเมินไปใช้

“การประเมินคุณภาพภายนอก จึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้กับสถานศึกษาทราบถึงจุดที่ต้องพัฒนา เพื่อนำข้อเสนอแนะไปเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้เรียน ผู้สอนให้มีศักยภาพมีความเหมาะสมตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ตรงตามมาตรฐานกำหนด อีกทั้งยังสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้” นายวณิชย์กล่าวในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน