“14 นิสิตชมรมซียูฮาร์” คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นสุดยอดนวัตกรรมจรวดความเร็วเสียง “เคอร์เซอร์-1” ภายใต้การสนับสนุนจาก กลุ่มทรูผ่านโครงการทรูแล็บ เป็นตัวแทนประเทศไทยทีมแรกในประวัติศาสตร์ เดินทางเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก “Spaceport America Cup 2022”

เอิร์ธ ภูวิศ เชาวนปรีชา ประธานชมรม ซียูฮาร์ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าจรวดความเร็วเสียงงานวิจัยตัวแรก ของจุฬาฯ ชิ้นนี้มีชื่อว่า “เคอร์เซอร์-1” (CU RSR-1) เกิดขึ้นจาก ความตั้งใจของเพื่อนๆ ทุกคนในชมรมที่ต้องการพัฒนาจรวดฝีมือ คนไทย คุณสมบัติสามารถขึ้นไปได้ถึง 10,000 ฟุต ด้วยมอเตอร์ขนาด 75 มิลลิเมตร ตัวจรวดทำด้วยไฟเบอร์กลาส โดยทีมเป็นผู้พัฒนา ชิ้นส่วนต่างๆ เกือบทั้งลำ รวมถึงระบบไฟฟ้าและโครงสร้างอื่นๆ

ด้าน ชิงชิง พรธีตรา รัตนพันธุ์ศรี และ ไอโกะ รชยา ดีเลิศกุลชัย นิสิตสมาชิกชมรมซียูฮาร์ แชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกันว่า เราทั้งสองดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ โดยร่วมกัน รับผิดชอบออกแบบและพัฒนาโครงสร้างส่วนปลายของจรวด หรือที่เรียกว่า Nosecone ตั้งแต่ขึ้นแบบ หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ราดเรซินจนออกมาเป็นชิ้นงาน พร้อมขัดตัว Nosecone ให้เรียบ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบและปัจจัยสำคัญตามหลัก Aerodynamic ที่จะช่วยลดแรงเสียดทานของอากาศ ส่งผลให้จรวดบินได้อย่างเสถียรและคงที่มากยิ่งขึ้น

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าน้องๆ ทุกคนล้วน มีพรสวรรค์ เก่ง และมุ่งมั่นมาก อันจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนไทยรุ่นต่อไป ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จและคว้าแชมป์โลกกลับมา

การแข่งขันจรวดความเร็วเสียงระดับนานาชาติ Spaceport America Cup 2022 รอบสุดท้าย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย.นี้ ที่เมืองลาสครูเซส รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีทีมเข้าร่วมแข่งขันกว่า 150 ทีมจาก 20 ประเทศทั่วโลก








Advertisement

ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาอย่างไร ความเพียรพยายาม ทุ่มเท ฝ่าฟันทุกอุปสรรคจนน้องๆ ได้มายืนอยู่บนเวทีโลกครั้งนี้ พิสูจน์ ให้เห็นแล้วว่าเยาวชนไทยไปได้ไกลกว่าที่คิด และการออกสู่อวกาศ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป!!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน