เปิดเวที‘STRONGER THAILAND’‘ระดมกึ๋น-พลิกตำรา’ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

รายงานพิเศษ

ผ่านพ้นไปอีกงานสัมมนาดีๆ โดย เครือมติชน ซึ่งครั้งนี้ได้นำ ‘แม่ทัพ’ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และ เอกชน มาล้อมวง ชี้ชะตา โอกาส และ ทางรอดเศรษฐกิจไทย อย่างถึงลูกถึงคน ผ่านเวที ‘STRONGER THAILAND’ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

เปิดเวทีด้วย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ ‘สู่โอกาสใหม่ STRONGER THAILAND’ โดยสรุปสาระสำคัญที่น่าสนใจว่า หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤตซับซ้อนมากขึ้น สามารถเกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่คาดการณ์ได้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว

นายดนุชากล่าวว่า ช่วง 2 ปีเกิดโควิดระบาด ได้มีการบริหารจัดการ 3 เรื่องหลัก คือ 1. การรักษาชีวิตของประชาชนผ่านการรักษาพยาบาล จัดหาวัคซีนป้องกันโรค และระดมฉีดได้มากที่สุด 2. การเยียวยาประชาชน ช่วงแรกช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ ต่อมาช่วยเหลือกลุ่มเจาะจงมากขึ้น และใช้มาตรการดึงผู้มีอาชีพอิสระเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม หรือมาตรา 40 มากขึ้น

และ 3. กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม หลัง 2 ปีเครื่องยนต์เศรษฐกิจมีจำกัด ต้องใช้ทรัพยากรภายในประเทศพยุงเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหนี้สิน และเอสเอ็มอี ผ่านการออกมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการของรัฐ ซึ่งสามารถบรรเทาประชาชนและพยุงเศรษฐกิจได้ช่วงระยะหนึ่ง มาถึงปี 2564 การส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาโควิดระบาดหนักอีก 2 ครั้งในช่วงต้นปี และไตรมาส 3/2564 ทำให้เศรษฐกิจติดลบ

นายดนุชา ย้ำว่า ในช่วงหลังจากนี้ถึงระยะข้างหน้าโลกจะมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบทางภูมิศาสตร์การเมืองจะรุนแรงขึ้น เกิดการแบ่งขั้วอำนาจมากขึ้น จึงเป็นจุดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปต้องวางตำแหน่งให้ดี ต้องชัดเจนมีจุดยืนว่าไม่ได้เลือกข้างฝ่ายใด และพร้อมประสานทุกประเทศได้

“จากการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง สศช. ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ 3% แน่นอน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกแม้สงครามรัสเซียกับยูเครน แต่ก็เป็นโอกาสด้านการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวทั้งปีรวม 7-10 ล้านคน ส่วนปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7%”

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยบรรเทาภาระประชาชนบ้างแล้วและมีอีก 8 มาตรการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินไปแล้ว ที่ปัจจุบันมีสถานะติดลบกว่า 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ อาจติดลบถึง 1 แสนล้านบาท จากราคาน้ำมันแพง ก็พยายามให้หลายหน่วยงานเข้ามาพูดคุย และ ขอความร่วมมือประชาชนปรับตัวช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัด

สำหรับสถานการณ์ในปี 2566 อาจเกิดปัญหาด้านภูมิศาสตร์ด้านการเมืองมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องยืนอยู่ในจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยระยะถัดไปเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และช่วยขับเคลื่อนประเทศถัดไป ต้องยืนอยู่ได้ และต้องปรับตัว ให้ได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไทยจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับตัวรอบด้าน สร้างจุดขายใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งทิศทางที่ได้หารือกับคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 กำหนด 13 จุดมุ่งหมาย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน

จากนั้น นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขึ้นบรรยายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อโอกาสใหม่” ว่า สิ่งที่ไทยกำลังเจอหนักๆ ในปัจจุบันนี้ คือ เรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดกระแสดิสรัปชั่น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้น ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่าง ส.อ.ท. จึงออกโปรแกรม industry transformation เพื่อช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมไป ถึง 4.0

ดังนั้น ส.อ.ท. จึงร่วมมือกันตั้ง 1FTI ขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยเข้มแข็งกว่าเดิม เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและเชื่อถือได้ คือ ภาคการส่งออก ที่ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้จีดีพีปี 2564 กลับมาเป็นบวกที่ 1.4% จากในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฉุดจีดีพีติดลบ 6.1%

ทิ้งท้ายด้วยไฮไลต์สำคัญของงานในการเสวนา “Stronger Bangkok ; Stronger Thailand” ของนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดย นายเศรษฐาระบุว่า ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เรื่องปากท้องถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสุด ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ รายได้ลดลง แต่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ผู้นำทุกคนจะต้องแก้ปัญหา อาทิ ผู้ว่าฯ กทม.พยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม โดยบริบทของประเทศต้องจัดการเรื่องรายได้ หนี้ครัวเรือน และการลดค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ มองว่าหลายๆ หน่วยงานมีความเกรงใจและเกรงกลัว คือ ไม่มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมองว่ามีความสำคัญ และได้ประโยชน์มากหากกทม.มีการพัฒนาที่ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น เชื่อว่าเอกชนพร้อมร่วมมือ ซึ่งเอกชนไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องเกรงใจในการเรียกหาการให้ ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และลดภาระงบประมาณ เชื่อว่าเอกชนยินดีช่วยเหลือ อาทิ การนำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนรวมดีขึ้น

ด้านนายชัชชาติ ระบุว่า อยากจะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารประเทศกำหนดเป้าหมายในการทำงาน ทั้งเรื่องของฝุ่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลเร็วๆ ต้องทำเป็นรูปธรรม อาทิ การปลูกต้นไม้เพื่ออากาศบริสุทธิ์ถือเป็น พื้นฐาน ปัญหา PM 2.5 เป็นปัญหาเรื้อรัง วิธีการคือ ปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่แท้จริง ไม่มีการทำวิจัยต่อเนื่อง

ขณะที่งบประมาณ กทม. ในปี 2566 กว่า 7.9 หมื่นล้านบาท ที่ทำมาแล้ว คงแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ต้องมาจัดกรอบ โดยเฉพาะการนำขึ้นเว็บไซต์ ให้สามารถตรวจสอบได้ ในงบดังกล่าวเป็น งบลงทุนใหม่มีประมาณ 1.6 พันล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือ เช่น อีก 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท เป็นงบผูกพันเยอะ ต่อเนื่องหลายปี ไม่สามารถเริ่มโครงการใหม่ได้ และอีก 5 พันล้านจ่ายหนี้ที่ 2 ปีที่แล้ว และเป็นงบบุคลากรก็เกือบ 40% จึงเหลืองบลงทุนเลยไม่เยอะ

ประเด็นสำคัญ เช่น ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ เอกสารเยอะ มีความซับซ้อนอยู่ สายสีเขียวมี 3 ส่วน มีไข่แดงตรงกลาง เพราะสัญญาเดิมที่เอกชนได้ไปหมดปี 2572 และทุกอย่างต้องกลับมาเป็นของกทม. ในขณะที่ส่วนต่อขยาย 1 ที่กทม. ลงทุนไป (อ่อนนุช-ตากสิน) และส่วนต่อขยาย 2 คูคต-ปากน้ำ ที่กทม. รับหนี้มาแล้วเดินรถไฟฟ้าฟรี ซึ่งต้องจ้างเอกชนเดินรถและ เป็นหนี้หลายพันล้านบาท

โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะหากปี 2572 สัมปทานหมดแทนที่จะได้ทั้งหมดกลับคืนมา เช่น ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ที่กทม.ลงทุน ปรากฏว่าต้องจ้างเดินรถไปถึงปี 2585 ซึ่งแม้ว่ารายได้เป็นของกทม. แต่ก็ต้องจ่ายเงินค่าเดินรถอยู่ดี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับว่ากทม.จะจ้างแพงแค่ไหน และหากจ้างแพงก็ต้องเก็บเงินผู้โดยสาร ไม่ให้ขาดทุน จึงต้องดูว่าสัญญาเป็นธรรมแค่ไหน ยอมรับว่ากระทบหลายส่วนและกำลังดูอยู่

“ต้องพิจารณาสัญญา เพราะมันส่งผล กระทบหลายส่วน ต้องดูด้วยความรอบคอบโดยต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้งและยุติธรรมกับประชาชนรวมถึงคู่สัญญาด้วย ซึ่งจะมีแถลงในเร็วๆ นี้”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของคนกทม. ที่สำคัญอีกจุดคือ รถเมล์จริงๆ กทม.ก็สามารถเดินรถเมล์ได้แต่ก่อน แต่เมื่อโอนอำนาจไว้ที่การขอใบอนุญาตกับกรมขนส่งทางบกทั้งหมด ดังนั้น นโยบายเราจะเดินรถเสริมเป็นบางจุดในราคาที่เหมาะสม อาจจะเสริมเป็นแนวเส้นเลือดฝอย เช่น แนวทางเชื่อมแถวเส้นร่มเกล้าที่ไม่มีรถเมล์วิ่งหรือถนนราชพฤกษ์ เป็นต้น

โดยช่วงหนึ่งนายชัชชาติตอบคำถามเรื่องเสียดายโอกาส หรือไม่ในช่วงที่เป็นรมว.คมนาคม โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาท เกิดสะดุดไม่สามารถดำเนินการได้ (เพราะกฎหมายกู้เงินไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ) รวมทั้งมีกรณีดราม่าถนนลูกรัง (ที่ตุลาการรัฐธรรมนูญระบุว่าควรให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน ก่อนจะไปคิดเรื่องรถไฟความเร็วสูง)

“อดีตก็คืออดีต ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว ขอให้มองไปอนาคต อดีตเป็นบทเรียน บทเรียนคือเวลามีค่า” นายชัชชาติกล่าว

ส่วนกรณีถนนลูกรัง มองว่าเป็นตัวชี้ความเจริญของประเทศ เมื่อความเจริญเข้าไป ถนนลูกรังจะไปก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นลาดยาง และเป็นคอนกรีต ถ้าประเทศไหนที่ไม่มีถนนลูกรังคือหยุดเจริญ มันคือตัวที่นำความเจริญเข้าไป แล้วมันจะค่อยๆ เปลี่ยน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าที่สหรัฐอเมริกา ถนนลูกรังจะเยอะแยะไปหมด เป็นถนนฝุ่น แล้วพอคนเยอะขึ้นมันก็เปลี่ยน

นับเป็นงานสัมมนาที่ฉายภาพอนาคตเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน