นับเป็นวาระสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์ประเทศไทย สำหรับ 90 ปีคณะราษฎร จากมิถุนายน 2475 ถึงมิถุนายน 2565

เป็นเวลา 90 ปีที่ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของไทยหรือที่เรียกกันว่า “การอภิวัฒน์สยาม” ถือกำเนิดขึ้น โดย “คณะราษฎร” กลุ่มบุคคลที่ดำเนินการปฏิวัติ

เหตุการณ์คราวนั้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบที่เรียกว่าพลิกฟ้าคว่ำ แผ่นดิน นำไปสู่การแปรเปลี่ยนไปของสังคม วัฒนธรรม และการเมืองในหลากหลายมิตินับจากนั้น

สำนักพิมพ์มติชน, มติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม, ศูนย์ข้อมูลมติชน และ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมจัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” ขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนทุกท่านกลับมาทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงชีวิตและความหมายของผู้คน และสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน

โดยมี ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมปาฐกถาพิเศษ

จากนั้นมีการเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ชวนพูดคุยถกถามถึงการเดินทางกว่า 90 ปีของประวัติศาสตร์การ อภิวัฒน์สยาม ตั้งแต่ก่อน (กาล) เปลี่ยนแปลงการปกครอง ราษฎรในเส้นทางการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหลากหลายมิติในการเปลี่ยนแปลงจากปี 2475 ที่ยังคงเชื่อมโยงส่งผลถึงปัจจุบัน และร่วมวาดหวังถึงการเมืองไทยในอนาคต

โดย นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์ บรรณาธิการหนังสือ “ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน” (ฉบับปรับปรุงใหม่), ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์และนักประวัติศาสตร์ด้านการเมือง ผู้เขียนหนังสือ “ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” และ ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เขียนหนังสือ “ปฏิวัติที่ปลายลิ้น : ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475” ร่วมพูดคุย

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 นั้นเป็นความลับ เพราะหากคนรู้มากก็จะล้มเหลว เมื่อเกิดการปฏิวัติวันนั้นแล้ว คนอยากรู้ว่าที่แท้จริงแล้วประชาชนคิดอย่างไร เพราะมีคนพูดว่าสิ่งนี้เป็นความต้องการของคนเพียงไม่กี่คนทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้น

จากที่ดูบันทึกหลายๆ ส่วนพบว่าประชาชนในขณะนั้นมีความรู้สึกเหมือนเราในขณะนี้ คือเบื่อและสิ้นหวังกับรัฐบาล เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นประชาชนหลายแสนคนก็ไม่ได้ต่อต้าน กลับชื่นชม และมีไม่น้อยที่อยากจะร่วมกับขบวนการนี้

หนังสือ “ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” ของตนจึงจะพูดถึงการสำรวจความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต และความฝันใฝ่ในหัวใจของสามัญชนคนหนุ่มสาวยุคแรกสร้างประชาธิปไตย กับบทบันทึกในยุคสมัยคณะราษฎรที่จะทำให้หวนกลับมานึกถึงคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เราจะได้รู้ว่าอะไรที่ทำให้หนุ่มสาวในยุคสมัยนั้นลุกขึ้นมาเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย

ด้านนายนริศกล่าวว่า “ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน” (ฉบับปรับปรุงใหม่) จากผลงานเขียนของ “นิยม สุขรองแพ่ง” เป็นเรื่องราวความพลิกผันของกองทัพเรือไทย เจาะลึก เรียบเรียงเรื่องราวแผนการคณะกู้ชาติ ปฏิบัติการจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และยุทธภูมิแม่น้ำเจ้าพระยา ตนมั่นใจว่าเป็นหนังสือกบฏแมน ฮัตตันที่ดีที่สุดในโลก หากใครชื่นชอบ เชื่อ ในเอกสารชั้นต้น ตนเชื่อว่าเล่มนี้ไม่มีเล่มใดเทียบได้ อยากให้ลองอ่านและศึกษากันดู

ผศ.ดร.ชาติชายกล่าวว่า หนังสือ “ปฏิวัติที่ปลายลิ้น : ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475” จะชี้ให้เห็นวิวัฒนาการความหมายของอาหารการกินในประวัติศาสตร์ช่วงเกือบร้อยปีที่ผ่านมา และคลี่ขยายอาหารการกิน สมรภูมิทางการเมืองวัฒนธรรมตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์สยาม เพราะอาหารการกินถือเป็นอีกสัญญะหนึ่งที่ทำให้เห็นเส้นทางทางเมืองอย่างชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการการกินเริ่มตั้งแต่ยุค ร.5 แต่อยู่ในชนชั้นสูงเท่านั้น แต่เมื่อยุคสมัยทางการเมืองเปลี่ยนไป หลังยุค 2475 ได้มีการส่งเสริมการกินของประชาชนอย่างจริงจัง กินแบบเสมอภาคกัน อีกประเด็นคือการปฏิวัติเรื่องรสชาติอาหาร จากที่ชาวบ้านอย่างเรากินเค็มมาก เผ็ดมาก แต่ชาววังกินอาหารรสละมุน รสชาติจึงเป็นส่วนแบ่งชนชั้นอยู่

90 ปีผ่านไปแห่งการอภิวัฒน์สยาม ยังคงมีเรื่องราวมากมายให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ เพราะการเมืองไทยเป็นเรื่องไม่มีวันจบ

หนังสือ 3 เล่มใหม่นี้จะพาหนุ่มสาวยุคปัจจุบันย้อนกลับไปในห้วงเวลาอันเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้อย่างลึกซึ้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน