ถือเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับเหตุการณ์ไฟไหม้ สำเพ็งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย บาดเจ็บอีกนับสิบคน

ไม่รวมทรัพย์สินทั้งอาคารพาณิชย์ สิ่งของภายใน และรถยนต์ที่ถูกไฟไหม้วอด

คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท

และที่น่าเศร้าก็คือต้นตอการเกิดเพลิงไหม้ กลับเกิดจากวัสดุอุปกรณ์หม้อแปลงของการไฟฟ้า ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีความปลอดภัย กลับกลายเป็นชนวนเหตุของความสูญเสียซะเอง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ แต่สุดท้ายก็เกิดเหตุสลดขึ้นจนได้

กลายเป็นคำถามว่าการตรวจสอบของการไฟฟ้าเองนั้น มีความน่าเชื่อถือเพียงใด และจะปรับปรุงแก้ไขในอนาคตได้หรือไม่

รวมทั้งเรื่องของการรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

ผลจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป








Advertisement

ย้อนเหตุไฟไหม้สำเพ็ง

เหตุการณ์เพลิงไหม้ระทึกครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ของวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ตลาดสำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร บริเวณแยกคิคูย่า เปลวเพลิงลุกไหม้บริเวณปากซอยอย่างรุนแรง ไฟไหม้ลามอาคารบริเวณดังกล่าวเป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ชื่อว่า บริษัท ราชวงศ์รุ่งเรือง จํากัด เลขที่ 157 ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการขายกระเป๋า ผ้า ถุงพลาสติก ถุงกระดาษ จากนั้นเพลิงกำลังลุกไหม้ลามเสียหายทั้งหมด 6 คูหา ขณะที่รถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียงเสียหายเช่นกัน

หลังจากที่รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพร้อมกำลังอาสาสมัคร เร่งระดมฉีดน้ำเพื่อสกัดกั้นเพลิงไม่ให้ลุกลาม ต่อมาเมื่อเข้าตรวจสอบอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ พบผู้เสียชีวิต 1 ราย บริเวณชั้นที่ 1 ของอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น โดยขณะนั้นที่เกิดเหตุยังมีไฟปะทุเป็นระยะ มีเสียงแตกและคล้ายโครงสร้างอาคารบีบอัด ทำให้ต้องถอน เจ้าหน้าที่ออกมาฉีดน้ำต่ออย่างระมัดระวัง กระทั่งช่วงบ่าย ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยว่าพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 บริเวณทางขึ้นชั้น 2

โดยสภาพศพถูกพลาสติกที่มีเป็นจำนวนมาก หลอม ละลาย ห่อหุ้มร่างเอาไว้ทั้งหมด คล้ายกับการเลี่ยมอัดกรอบพระเครื่อง เบื้องต้นจึงมอบร่างในสภาพดังกล่าวส่งให้แพทย์นิติเวช ร.พ.จุฬาฯ ดำเนินการชันสูตรพลิกศพอย่างละเอียดอีกครั้ง จนแน่ชัดสามารถระบุชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ประกอบด้วย น.ส.จิราพัช สุ่มมาก อายุ 52 ปี พนักงานแคชเชียร์ของร้านที่เกิดเพลิงไหม้ และนาย เพชเดือม อายุ 34 ปี สัญชาติพม่า ลูกจ้างของร้าน นอกจากนี้มี ผู้บาดเจ็บทั้งหมด 11 ราย ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนถูกนำส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว และโรงพยาบาลกลาง

สำหรับความเสียหายของทรัพย์สินพบต้นเพลิงที่อาคารบริษัทราชวงศ์รุ่งเรือง และลามไปยังอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นที่อยู่ติดกัน จำนวน 5 คูหา ได้แก่ เลขที่ 157, 151, 153, 155 และ 159 และ ยังมีรถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณที่เกิดเหตุได้รับความเสียหาย 3 คัน

คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

แฉต้นเพลิงหม้อแปลงชำรุด

สำหรับสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ น.ส.อาทิตยา โชคกิจม นัสชัย ผอ.เขตสัมพันธวงศ์ ระบุว่า เบื้องต้นสาเหตุเกิดจากหม้อแปลงระเบิดจึงทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ และมีลมแรงจึงทำให้เพลิงพัดลุกไหม้ไปยังอาคารข้างเคียง ประกอบกับมีถังแก๊สตั้งอยู่เพราะเป็นร้านขายอาหารตามสั่ง จึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น

ด้านน.ส.จิตรา อัฐใจ อายุ 34 ปี ลูกจ้างร้านขายถุงพลาสติก ซึ่งหนีตายออกจากอาคารได้อย่างหวุดหวิด ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาตรวจสอบและซ่อมแซมสายไฟบริเวณดังกล่าว ซึ่งพาดขนานไปกับตัวอาคารบริเวณชั้น 2 ของร้านค้าในละแวกเดียวกันนี้

กระทั่งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเดินทางกลับไป ตนและผู้ค้าอีกหลายคนสังเกตเห็นว่าบริเวณสายไฟที่หน้าร้านตนเกิดเสียงดังคล้ายไฟชอร์ตกัน ทีแรกยังวิจารณ์กันอยู่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่พันเก็บสายไฟให้เรียบร้อย หลังจากทำงานเสร็จหรือไม่ สักพักก็มีของเหลวไหลทะลักออกจากหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหน้าร้าน ก่อนจะมีเสียงระเบิดดังขึ้น 2 ครั้ง ทำให้ตนต้องรีบวิ่งข้ามถนนหนีตายไปอยู่ฝั่งตรงข้าม จากนั้นแสงเพลิงก็ลุกลามจากหม้อแปลง ไฟฟ้าเข้าสู่ตัวอาคารอย่างรวดเร็ว

แฟ้มคดี

ความเสียหาย

ขณะที่นายเกียรติศักดิ์ แซ่แต๊ เจ้าของอาคารที่ได้รับความเสียหาย ระบุว่า โชคดีที่วันเกิดเหตุร้านปิดบริการ ไม่เช่นนั้นทั้งตนและลูกจ้างอีก 5-6 คนไม่รู้จะมีชะตากรรมอย่างไร พร้อมระบุว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. เวลาประมาณ 19.00 น. หม้อแปลงลูกนี้ก็เพิ่งมีปัญหา มีเสียงคล้ายการชอร์ต จนชาวบ้านแจ้งการไฟฟ้าตรวจสอบ ซึ่ง เจ้าหน้าที่ก็มาแก้ไขแล้วกลับไป พอเช้าวันที่ 26 มิ.ย. ก็เกิดปัญหาอีก จนกระทั่งเกิดระเบิดเพลิงไหม้ มีทรัพย์สินเสียหาย เรื่องนี้กฟน. ต้องรับผิดชอบ และจะเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป“เรื่องนี้ประชาชนไม่สามารถดูแลได้ นอกจากแจ้งหน่วยงาน รับผิดชอบ หม้อแปลงถ้าเก่ามาก ก็ต้องเปลี่ยน อย่าให้เกิดโศกนาฏกรรมแล้วมาแก้ทีหลัง”

เป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนผู้สูญเสีย

กทม.เร่งแก้-หวั่นสลดซ้ำ

ขณะที่การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า กฟน.ต้องควบคุมความเสี่ยงเรื่องหม้อแปลง ซึ่งภายในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน มีหม้อแปลงอยู่ประมาณ 400 กว่าลูก รวมถึงสายสื่อสารที่เป็นตัวไฟลุกลามมายังอาคารที่มีเชื้อเพลิงจำนวนมาก ซึ่งกทม.จะเร่งหารือในการตัดสายไฟฟ้าและสายสื่อสารให้เร็วขึ้น

แฟ้มคดี

ชัชชาติรุดตรวจ

ทั้งนี้จากการหารือการไฟฟ้านครหลวงแจ้งว่าจะปรับแผนการดูแลหม้อแปลง โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ จากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็นทุก 6 เดือน ขณะเดียวกันจะปูพรมตรวจสอบหม้อแปลงเก่าทั้งหมด โดยขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นหม้อแปลงมีน้ำมันไหล เสียงดัง เกิดควัน ให้แจ้งสายด่วน MEA 1130 หรือแจ้งผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูร์ก็ได้

นอกจากนี้กทม.พร้อมร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงเต็มที่ในการกำหนดจุดเสี่ยง โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงเรื่องสายสื่อสารมีตัวฉนวนติดไฟได้

รวมทั้งต้องหารือเรื่องสายสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการตัดสายตาย ออก สายไหนลงดินได้ก็ต้องลงดิน และต้องดูข้อกำหนดว่าสายสื่อสารจะอยู่ห่างหม้อแปลงได้เท่าไร ถึงจะไม่มีความเสี่ยงให้เกิดไฟลาม ทั้งนี้จะเริ่มตัดสายสื่อสารในพื้นที่เขตละ 20 ก.ม.นำร่องที่เยาวราช สำเพ็ง ราชวงศ์

ไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นมาซ้ำอีก

กฟน.พร้อมชดเชยเยียวยา

ขณะที่เรื่องของคดี พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. ในฐานะโฆษกบช.น. ระบุว่า ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน พนักงานสอบสวน สน.จักรวรรดิ และการไฟฟ้านครหลวง ยกหม้อแปลง ไฟฟ้า ที่คาดว่าเป็นจุดต้นเพลิงไปตรวจสอบ ที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วและอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ

ส่วนการสอบปากคำ ผู้ที่อยู่ในร้านค้ารวมทั้งผู้ที่เห็นควันไฟจากหม้อแปลงก่อนเกิดเหตุรวมแล้ว 5 ราย และจะเชิญเจ้าหน้าที่ กฟน. มาสอบกรณีมีควันไฟออกจากหม้อแปลงด้วย ทั้งนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานว่าเหตุเพลิงไหม้นี้เกิดจากความประมาทของฝ่ายใด

แฟ้มคดี

ไหว้วอด 2 ศพ

พ.ต.อ.วสันต์ ธวัชชัยวิรุตษ์ ผกก.สน.จักรวรรดิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งใด จนกว่าจะรอผลการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเสร็จสิ้น อีกทั้งยังต้องรอผลการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐาน นำมาประกอบสำนวนคดี ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ส่วนเรื่องผู้เสียหายที่ประสงค์จะเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับหน่วยงานใด ก็สามารถเดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ตามสิทธิ์

ด้านนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า พร้อมช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นในระยะเร่งด่วนตามมาตรการฉุกเฉินที่กฟน.กำหนดไว้อย่างเต็มที่ สำหรับสาเหตุเพลิงไหม้ที่อาจมาจากหม้อแปลงไฟฟ้านั้น ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบโดยละเอียด

แฟ้มคดี

ตรวจสอบหม้อแปลง

ทั้งนี้พบว่า หม้อแปลงลูกดังกล่าวไม่ได้เปิดใช้งานมา 10 วันแล้ว เนื่องจากอยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบระบบภายในและสายไฟที่เกี่ยวข้อง และก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เปิดสวิตช์เพื่อให้กระแสไฟเข้าสู่ระบบ แต่ในช่วงระหว่างเดินทางกลับ ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุไฟดับและเกิดเพลิงไหม้ สำหรับหม้อแปลงลูกนี้ใช้งานมาแล้วประมาณ 20 ปี ซึ่งตามมาตรฐานแล้วการไฟฟ้าจะเปลี่ยน หม้อไฟประมาณ 25 ปี จากการตรวจสอบหม้อแปลงลูกนี้ยังสามารถใช้การได้เพราะก่อนหน้านี้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจเมื่อปีที่แล้ว

“ต้องพิสูจน์สาเหตุก่อน หากเป็นความผิดพลาดของการไฟฟ้าฯ จริง ก็ยินดีที่จะเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับกระทบโดยตรงจากเหตุหม้อแปลงขัดข้อง ขณะนี้อาจจะเร็วเกินไป แต่ลำดับแรกจะพูดคุยกับผู้เสียหายเพื่อทำความเข้าใจก่อน หากตกลงกันได้จะได้ไม่ถึงขั้นตอนของการฟ้องร้องทางกฎหมาย”

ควรจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น!!!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน