มีคนบอกว่า ดอกมะลิ เป็นยา จริงหรือ ปลูกไว้เยอะเลย เอากลิ่นหอมอย่างเดียว

นีน่า

ตอบ นีน่า

คำตอบสรุปจากบทความ “สรรพคุณ-ประโยชน์ ดอกมะลิ และน้ำดอกมะลิ” มติชน สุดสัปดาห์ ดังนี้

ตามหลักพฤกษศาสตร์ มะลิอยู่ในสกุลแจสมินัม (Jasminum) มีอยู่ทั่วโลกไม่น้อยกว่า 200 ชนิด ในเมืองไทยก็มีมากกว่า 20 ชนิด ที่คุ้นเคยและใช้กันคือมะลิที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jasminum sambac (L) aiton. แบ่งเป็น มะลิลา กับ มะลิซ้อน

ผู้ที่ปลูกมะลิไว้เอง หรือมั่นใจว่าหาซื้อจากสวนที่ปลูกไร้สารเคมียากำจัดศัตรูพืช อยากให้ลองเด็ดดอกมะลิ แนะนำให้เด็ดแต่ เช้าตรู่ก่อนแดดแรงจ้าจะมา บางคนว่าเก็บตอนเย็นก็มี เก็บแล้ว แช่น้ำไว้ เอาน้ำดอกมะลิไปหุงข้าว ทำให้ข้าวหอมอร่อยยิ่งขึ้น

สำหรับน้ำดอกมะลิสดที่จะแนะนำนี้ทำง่ายมากๆ นำดอกมะลิมาล้างน้ำให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกออก สลัดเอาน้ำออกเบาๆ เตรียมน้ำดื่มสะอาด 1 แก้ว ใช้ดอกมะลิ 3-4 ดอกลอยในน้ำ หาฝาปิดแก้ว นำไปแช่ในตู้เย็น ดื่มแล้วรู้สึกได้ว่าชื่นใจ ดับกระหาย คลายร้อน หายอ่อนเพลีย หรือเรียกว่า “ชูกำลัง” สู้กับความร้อนได้ดี กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว

ในอดีต วิถีวัฒนธรรมไทย แขกไปใครมาก็จะต้อนรับด้วยน้ำลอยดอกมะลิในขันเงินสวยงาม หรือมีคนโทน้ำลอยดอกมะลิให้ ผู้ผ่านทางได้ดื่ม เมืองไทยร้อนชื้นเกือบทั้งปี น้ำดอกมะลิจึงช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกายได้ดี ชื่นใจ คลายเครียด ทำได้ทุกครัวเรือน

การเก็บดอกมะลิแห้งไว้ปรุงเป็นเครื่องดื่มร้อนก็ทำได้ นำดอกแห้งราว 10 ดอก ต้มน้ำหรือชงน้ำร้อนดื่ม นับเป็นยาสมุนไพรบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น

ในทางสรรพคุณยาไทย ดอกมะลิอยู่ในตำรับยามากมาย ที่รู้จักกันดีคือ หนึ่งในตัวยาสมุนไพรที่เรียกว่าพิกัดเกสรทั้ง 5 เกสรทั้ง 7 และเกสรทั้ง 9 ซึ่งเป็นตำรับยารวมเกสรหรือดอกไม้ตั้งแต่ 5 ถึง 9 ชนิด เป็นกลุ่มของยาหอมยาบำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย หากกล่าวเฉพาะดอกมะลิ เป็นยารสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ช่วยให้แช่มชื่นใจ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ

ตำรายาไทยกล่าวถึงสรรพคุณของมะลิ ใช้บำรุงหัวใจ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ทำจิตใจให้ชุ่มชื่น บำรุงครรภ์ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เจ็บตา และยังมีรสฝาด ช่วยสมานท้อง แก้บิด แก้ปวดท้อง แก้แผลเรื้อรัง ผิวหนังเป็นผื่นคัน และดอกสดนำมาตำใส่พิมเสน สุมหัวเด็ก แก้ซาง แก้ตัวร้อน แก้หวัด

ในตำรับยาหอมหลายตำรับ มีมะลิเป็นตัวยา เช่น ยาหอม เทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาหอมทิพโอสถ และยาหอมอินทจักร์ มีสรรพคุณบำรุงจิตใจชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการดื่มกิน ผู้ที่ชื่นชอบ ไม่ควรกินหรือดื่มมากเกินไป หลักการแพทย์แผนไทยกล่าวว่า ดอกมะลิเป็นยารสหอมเย็น แต่ถ้าใช้สมุนไพรรสแบบนี้มากเกินไป จะส่งผลแสลง กับโรคลมจุกเสียดแน่น อาจรู้สึกอึดอัด เอียน แน่นในท้อง

ให้ดื่มวันละ 1-2 แก้วช่วงเช้าและบ่ายในวันอากาศร้อนๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน