คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงิน 8,382.2 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ จำนวน 10.95 ล้านคน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ก.ย.2565

โดยเฉลี่ยรายละ 100-250 บาทต่อคนต่อเดือนตามช่วงอายุ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คืออายุ 60-69 ปี จำนวน 6.5 ล้านคน ช่วยเหลือ 100 บาทต่อคน ต่อเดือน อายุ 70-79 ปี จำนวน 3.0 ล้านคน ช่วยเหลือ 150 บาทต่อคนต่อเดือน

อายุ 80-89 ปี จำนวน 1.2 ล้านคน 200 บาท ต่อคนต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป จำนวน 1.9 แสนคน 250 บาทต่อคนต่อเดือน จ่ายงวดแรกวันที่ 19 ก.ค. จำนวน 4 เดือน อีก 2 งวดวันที่ 19 ส.ค. และ 19 ก.ย.

การช่วยเหลือนี้เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ค่าพลังงาน และสภาพเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ยังถือว่าน้อยมาก

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย.2565 อยู่ที่ 7.66 เปอร์เซ็นต์ ปรับสูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2564 อยู่ที่ 7.10 เปอร์เซ็นต์

สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อยังปรับสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารสด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารจำเป็นต่อชีวิตประจำวันทั้งสิ้น เช่น เนื้อหมู ไก่สด ผัก น้ำมันพืช รวมไปถึงข้าวราดแกง

ที่ยังวิกฤตคือหมวดสินค้ากลุ่มพลังงาน ราคาเพิ่มมากถึง 39.97 เปอร์เซ็นต์ ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 45.41 เปอร์เซ็นต์ และก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้น 12.63 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้ากับเดือนก่อนหน้า พบปรับเพิ่มขึ้น 213 รายการ ปรับลดลง 80 รายการ และไม่เปลี่ยนแปลง หรือขึ้นราคาแล้วยังไม่ปรับลดลง 137 รายการ

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่ยังปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ถือว่าขยายตัวให้อัตราที่ชะลอตัวลง ต่ำกว่าที่หลายสำนักคาดว่าจะขึ้นไปถึง 8 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้ความร่วมมือตรึงราคาขายปลีกสินค้า

ทั้งอ้างถึงข้อมูลว่าปัจจุบันไทยอยู่ในกลุ่มประเทศอัตราเงินเฟ้อต่ำมาก อยู่ในอันดับที่ 87 จากทั้งหมด 127 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่เงินเฟ้อสูงอันดับหนึ่งอยู่ที่ 211 เปอร์เซ็นต์

แต่ในอีกด้านประเทศที่เงินเฟ้อสูงลำดับต้นๆ เกิดจากความขัดแย้งรุนแรงในประเทศ สงคราม กลางเมือง การสู้รบ ภัยธรรมชาติ ความอดอยากที่สะสมยาวนาน

แม้ไทยยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่เงินเฟ้อแค่นี้ ในมุมมองรัฐบาล กลับส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชน ยิ่งตอกว่าการแก้ปัญหายังไม่มีประสิทธิภาพพอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน