สมุทรสาคร – นายโกสินทร์ สุดดี ผู้จัดทำโครงการสร้างสรรค์ ต่อยอดลายผ้าสาคร เผยว่า สำหรับโครงการ “สร้างสรรค์ ต่อยอด ลายผ้าสาคร” เกิดขึ้นจากการที่ทางจังหวัดสมุทรสาครนั้นไม่มีผู้ประกอบการ การทอผ้า จึงทำให้จังหวัดสมุทรสาครยังไม่มีลายผ้าทอ หรือลายผ้า พื้นถิ่นเป็นของจังหวัด รวมทั้งจากสถานการณ์โควิดที่ ผ่านมาถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการงานผ้าและเครื่องแต่งกายส่วนใหญ่เผชิญปัญหายอดจำหน่ายสินค้าลดลงอย่างมากจากผลิตภัณฑ์เดิมๆ ในการนี้จึงเกิดความตั้งใจที่จะรวมกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย มาร่วมกันคิดพัฒนาสร้างลายผ้าที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสาครขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครนั้นมีความโดดเด่นในงานฝีมือหลายๆ ด้าน อีกทั้งที่ผ่านมาทางจังหวัดสมุทรสาครยังได้มีการทำโครงการ 4DNA ที่เป็นการดึงเอาอัตลักษณ์ และจุดเด่นของจังหวัดสมุทรสาคร ออกเป็นสัญลักษณ์ และเป็นลายต่างๆ ทั้ง 3 อำเภอ ดังนั้น จึงได้ยื่นของบประมาณหลักในการจัดทำโครงการ จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และงบเพิ่มเติมจากสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองสมุทรสาคร เพื่อร่วมกันพัฒนาให้เกิดเป็นต้นแบบ “ลายผ้าสาคร” ด้วยการนำลาย 4DNA ที่มีอยู่จากทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด มาออกแบบเพิ่มเติม และตกผลึกเป็นลายต้นแบบแรก

โดยเน้นผู้ประกอบการกลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกายที่มีหลากหลายความถนัด เช่น การปัก การเพนต์ การมัดย้อม การตัดเย็บ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถนำองค์ความรู้เทคนิคการสร้างลวดลายที่ได้ร่วมกันเรียนรู้และพัฒนาจากโครงการนี้ไปต่อยอด สร้างสรรค์ ถ่ายทอด ด้วยเทคนิคตามความถนัดของตัวเองเพิ่มเติมในการสร้างชิ้นงานแตกยอดออกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาและเพิ่มโอกาส เพิ่มช่องทางการตลาด สร้างรายได้ที่มากขึ้นให้กับกลุ่มผู้ประกอบการงานผ้าและเครื่องแต่งกายจังหวัดสมุทรสาคร

โครงการนั้นได้ดำเนินการ ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านคลองปีกนก ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยการอบรมประกอบไปด้วย การออกแบบลายผ้า และ Workshop ลงสีลาย, การย้อมผ้าและการมัดย้อม ด้วยสีธรรมชาติ จากวัตถุดิบในท้องถิ่น อาทิ เปลือกมะพร้าวน้ำหอม เปลือกไม้โกงกาง ต้นกะบูน ใบมะม่วง ใบหูกวาง โดยครูศรุดา กันทะวงค์ มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 24 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน