ผ่านมาแล้วร่วมสัปดาห์แต่ก็ยังอยู่ในความสนใจของสังคม สำหรับกรณีมือมืดบุกเปลี่ยนป้ายชื่อสะพานพิบูลสงคราม มาเป็นชื่อสะพานท่าราบ จนสร้างความมึนงงให้กับคนในสังคม

ซึ่งก็รวมทั้งกทม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล ก็ยังสงสัย เพราะไม่เคยมีการให้เปลี่ยนแปลงชื่อสะพานแต่อย่างใด

และเพื่อแสดงออกในการปกป้องทรัพย์สินของราชการที่เกิดขึ้นจากภาษีของประชาชน ก็จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องแจ้งความดำเนินคดี

ในที่สุดก็ได้หลักฐานสำคัญ เป็นภาพวงจรปิดพบชายฉกรรจ์หัวเกรียน ขับปิกอัพวน 3 รอบก่อนก่อเหตุ แล้วขับหายไป

ซึ่งก็ไม่รู้ในที่สุดแล้วจะจับกุมมาดำเนินคดีได้หรือไม่

อย่างไรก็ตามก็ยังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงแรงจูงใจเรื่อง ดังกล่าวว่ามาจากปมเหตุของประวัติศาสตร์หรือไม่

ถึงได้เปลี่ยนชื่อสะพานจากนามสกุลของแกนนำคณะราษฎร ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาเป็นชื่อท่าราบ ที่เป็นสกุลของสมาชิกคนสำคัญของกบฏบวรเดช

อีกทั้งยังชวนคิดว่าเชื่อมโยงกับหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนจะเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ คงต้องรอเจ้าหน้าที่คลี่คลาย

รื้อป้ายสะพาน

มึนเปลี่ยนชื่อสะพานพิบูลสงคราม

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องฮือฮา เป็นกระแสในโลกออนไลน์ก่อน โดยช่วงเช้าวันที่ 2 ก.ค. มีการโพสต์ภาพป้ายสะพานพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองบางซื่อ บนถนนประชาราษฎร์สาย 1 เขตดุสิต กทม. ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานท่าราบ โดยไม่มีใครทราบที่มาที่ไป

ต่อมาช่วงสาย นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบเป็นป้ายอะคริลิก ข้อความ สะพานท่าราบ มาติดทับชื่อสะพานพิบูลสงคราม เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้ง จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนสน.บางโพ เนื่องจากเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ความสะอาด และกฎหมายเกี่ยวกับที่สาธารณะ

จากนั้นในช่วงบ่าย นายธานินทร์ เนียมหอม ผอ.เขตดุสิต พร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจ และตำรวจสายตรวจ สน.บางโพ ร่วมตรวจสอบสะพานพิบูลสงคราม ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าป้ายชื่อสะพานใหม่นั้นถูกปิดทับทั้ง 2 ฝั่งคลองของตัวสะพาน เจ้าหน้าที่ใช้ชะแลงงัดออก ก็พบป้ายชื่อเดิมเป็นป้ายสะพานพิบูลสงคราม แต่ก็ก่อให้ป้ายสะพานเดิมเสียหายบางส่วน มีเศษปูนหลุดลอกติดกับกาวของป้ายสะพานใหม่

นายธานินทร์ระบุว่า รับแจ้งจากแอพพลิเคชั่น ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ของ กทม. จึงมาตรวจสอบพร้อมตำรวจ สน.บางโพ เพื่อเร่งปรับแก้ให้คืนสู่สภาพเดิม สะพานแห่งนี้อยู่ในเขตของสำนักงานเขตดุสิต แต่เป็นความรับผิดชอบของสำนักการโยธา กทม.

ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าใครมาติดตั้ง ต้องไปไล่ดูกล้องวงจรปิดว่ามีใครทำผิดสังเกตบ้าง ซึ่งดูจากลักษณะกาวที่นำมาติดทับป้ายนั้นยังผ่านเวลามาไม่นาน ตำรวจ สน.บางโพ จะนำเป็นหลักฐานไปสืบหาบุคคลต่อไป ซึ่งยังตอบไม่ได้ถึงจุดประสงค์ของผู้กระทำว่าเป็นกลุ่มคนหรือบุคคลใด และจะสืบหาข้อมูลด้วยว่า เหตุใดต้องเป็นชื่อท่าราบ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่หน่วยงานใดที่เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะลักษณะของสะพานเป็นทรายล้างและคอนกรีต แต่แผ่นป้ายดังกล่าวเป็นอะคริลิก

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ กทม.มีหน้าที่ต้องดูแลทรัพย์สิน หากพบจุดไหนเสียหายต้องปรับปรุงแก้ไข ส่วนจะเอาผิดคนติดป้ายหรือไม่นั้น จะมอบหมาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามความเหมาะสม

ส่วนมีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ ก็รู้อยู่เลาๆ แต่อย่าไปพูดถึง ประเด็นคือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะกทม.ต้องดูแลทรัพย์สินราชการ

ส่วนใครเป็นผู้กระทำคงต้องหาตัวกันต่อไป!!

รถต้องสงสัย

ล่า2คนร้าย-เปิดเส้นทางหนี

ส่วนเรื่องทางคดีหลังจากเจ้าหน้าที่กทม.รื้อถอนป้ายทั้ง 4 ออกพ้นสะพานแล้ว ก็ได้นำป้ายดังกล่าวมามอบให้ สน.บางโพ เก็บรักษาไว้ พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำ และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

โดยพ.ต.อ.ศักดิเดช กัมพลานุวงศ์ ผกก.สน.บางโพ เปิดเผยว่า พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. สั่งการให้เร่งรัดตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งทาง สน.บางโพ ประสานกับชุดสืบสวน บก.น.1 เพื่อเร่งตรวจสอบข้อมูลพยานหลักฐานและติดตามรายละเอียดข้อมูลผู้ก่อเหตุ

ทั้งนี้จากการเช็กภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่าช่วงระยะเกิดเหตุอยู่ที่คืนวันที่ 30 มิ.ย.ต่อเนื่อง วันที่ 1 ก.ค. โดยพบชาย 2 คน ผมสั้นเกรียน ใส่หน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า สวมเสื้อคลุมแขนยาว ขับกระบะ สีเข้ม มาจากถนนสามเสน ผ่านแยก เกียกกายมาบริเวณดังกล่าว ก่อนนำป้าย 4 แผ่นติดบริเวณดังกล่าว มาถึงจุดลงมือเวลา 00.05 น. และใช้เวลาประมาณ 17 นาที ก่อนออกจากจุดดังกล่าวช่วงเวลาประมาณ 00.22 น. โดยก่อนลงมือพบว่ามีการขับวนเพื่อดูลู่ทางก่อนถึง 3 รอบ

จากนั้นกลับรถไปยังถนนสามเสน ตรงมาเลี้ยวซ้ายแยกบางกระบือ ก่อนวนอยู่บริเวณดังกล่าว แล้วใช้เส้นทางถนนสวรรคโลกแล้วหายไปจากบริเวณดังกล่าว

คนก่อเหตุ

โดยเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่า ป้าย ดังกล่าวมีการจัดทำมาค่อนข้างดี ขนาดพอดีกับป้ายชื่อสะพาน เหมือนมีการวัดขนาดมาเป็นอย่างดี และตั้งใจจะให้ติดอยู่บริเวณสะพานดังกล่าวแบบถาวรโดยใช้กาวร้อนติดทับ

สำหรับข้อสงสัยว่าทำไมต้องเป็นสะพานพิบูลสงครามนั้น พบว่าชื่อพิบูลสงครามนั้น เป็นนามสกุลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือหลวงพิบูลสงคราม แกนนำคนสำคัญสายทหารของคณะราษฎร ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 และมีส่วนร่วมกับการปราบกบฏบวรเดช ในปีพ.ศ.2476 ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2481 และเป็นอีกหลายสมัยจนกระทั่งถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500

หลวงพิบูลสงคราม ถือเป็นผู้นำที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ เป็นผู้เปลี่ยนชื่อสยาม มาเป็นไทย และเป็นผู้บัญญัติรัฐนิยมหลายประการ

ขณะที่ ‘ท่าราบ’ เป็นนามสกุลของพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี

โดยพระยาศรีสิทธิสงคราม ถือเป็น แกนนำคนสำคัญของคณะกบฏบวรเดช รับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง และถูกยิงเสียชีวิตขณะถอยทัพ ที่สถานีรถไฟหินลับ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2476

เป็น 2 บุคคลที่เกี่ยวพันกับประวัติ ศาสตร์การเมืองไทยอย่างเข้มข้น

ตรงกับของกลาง

ย้อนรอย‘อนุสาวรีย์’หาย

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวถูกนำไปตีความสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกองทัพบก เมื่อปี พ.ศ.2562 ที่ตั้งชื่อห้อง ‘บวรเดช’ และห้อง ‘ศรีสิทธิสงคราม’ ในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์กองทัพบก ที่อาคารสรรพาวุธ โดยชั้นบนเป็นห้องชื่อบวรเดช และห้องข้างล่างใช้ชื่อห้องศรีสิทธิสงคราม

เพื่อรำลึกถึง พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้นำคณะกู้บ้านเมือง เพื่อล้มอำนาจของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยก่อการขึ้นเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2476 โดยใช้กำลังทหารจากหัวเมือง อาทิ อุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เข้ามายึดพื้นที่ดอนเมือง เพื่อเรียกร้องให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ลาออก

ภายหลังการต่อสู้อย่างดุเดือด ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะ พระองค์เจ้าบวรเดช ลี้ภัยไปอินโดจีน ขณะที่พระยาศรีสิทธิสงคราม เสียชีวิตที่สถานีรถไฟบ้านหินลับ จ.สระบุรี ขณะกำลังถอนกำลัง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏ ใช้ชื่อว่าเป็นอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก่อสร้างขึ้นในปี 2479 ที่บริเวณวงเวียนหลักสี่ เป็นอนุสรณ์แห่งความร่วมมือของประชาชน และรัฐบาลที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่กำลังฝังรากในประเทศไทย ผนังจารึกรายชื่อของทหาร-ตำรวจ ที่พลีชีพในการปราบกบฏครั้งนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 เกิดการเคลื่อนย้ายรื้อถอนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งนี้ โดยปัจจุบันยังไม่ทราบว่าถูกเคลื่อนย้ายไปที่ใด

ทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกนำมาผูกโยงกับเรื่องชื่อป้ายสะพาน

ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องรอการคลี่คลายจากเจ้าหน้าที่!!!

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน