เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่รัฐสภา ตัวแทนคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล นำรายชื่อประชาชนจำนวน 80,772 รายชื่อจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยร่วมแสดงพลัง ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น จากแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนางผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภา เป็นตัวแทนรับเรื่อง

น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวว่า รายชื่อ 80,772 เป็นรายชื่อที่เราภาคภูมิใจ เพราะมีครบทั้ง 77 จังหวัดและใช้เวลารวบรวมเพียง 3 เดือน ความจริงมีมากกว่านี้ แต่ติดที่เป็นเยาวชน อายุไม่ถึง 18 ปี จึงทำให้ขาดคุณสมบัติ จากการรณรงค์พบว่าทุกคนจากทุกอุดมการณ์การเมืองเข้าใจว่าประเทศนี้ต้องการให้ท้องถิ่นปลดล็อก นั่นคือการเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดด้วยตัวเอง ให้ท้องถิ่นได้เติบโตตามศักยภาพ นี่คือหัวใจของประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศ

ขณะนี้เรากำลังทำภารกิจ 2 แบบคือจากบนลงล่าง คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อให้เกิดการกระจายทรัพยากร งบประมาณ และอำนาจให้ท้องถิ่นทั่วประเทศไทยให้ได้ และจากล่างขึ้นบนคือ การสร้างท้องถิ่นที่มีศักยภาพ ทำงานอย่างโปร่งใส และมีวิสัยทัศน์ เพื่อให้ประชาชน เห็นว่าเมื่อมีงบประมาณ อำนาจ และผู้บริหารท้องถิ่นที่มีคุณภาพ มากพอที่จะนำงบประมาณมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

งานทั้งสองอย่างจะสำเร็จเป็นจริงได้หรือไม่อยู่ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราคาดหวังว่าผู้แทนราษฎรทุกคนจะเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองที่พรรคไหนได้ประโยชน์ แต่เป็นเรื่องของพี่น้องประชาชน 70 ล้านคนได้ประโยชน์เหมือนกันทั้งหมด หวังทุกคนว่าจะทำหน้าที่ ได้สมชื่อ และช่วยกันให้กฎหมายฉบับนี้สำเร็จออกมาเพื่อปลดล็อก โซ่ตรวน ให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการปลดล็อกนั้น เกิดขึ้นบนพื้นฐานการพยายามปลดล็อกเศรษฐกิจไทยและส่งเสริมประชาธิปไตยในการบริหารจัดการบ้านเมือง ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ข้อ

1.การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้นำในจังหวัดตนเอง เนื่องจากมีกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนใน จังหวัดอื่นๆ เริ่มตั้งคำถามถึงเรื่องการเลือกผู้บริหารจังหวัดสูงสุดของตนเองได้ ถึงแม้ในปัจจุบันประชาชนในจังหวัดอื่นสามารถเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เองได้ แต่เราเห็นว่าคนที่มีอำนาจสูงสุดคือผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย

2.การกระจายงานให้ท้องถิ่นรับผิดชอบเรื่องการบริการสาธารณะทั้งหมดเป็นหลัก และ 3.การกระจายงบประมาณ ที่ปัจจุบันพบว่าท้องถิ่นได้รับงบประมาณเพียงร้อยละ 29 จากทั้งหมด ไม่รวมงบฝากที่นำไปแปะไว้กับจังหวัดต่างๆ จะพบว่าจริงๆ แล้วจังหวัดต่างๆ ได้รับงบประมาณเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น

“การมายื่นครั้งนี้มีความคาดหวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณา และส.ส. ส.ว.เห็นชอบกับข้อเสนอของเรา อย่ามองว่าร่างดังกล่าวเป็นร่างของพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้า แต่ให้ มองว่าเป็นร่างของประชาชนทุกคน หวังว่าปรากฏการณ์ของร่างนี้ หากได้รับการอนุมัติจากสภาจะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะคืนความหวังให้ประชาชนต่อการเมืองต่อไป” นายพริษฐ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน