วิกฤตสงครามรัสเซียบุกยูเครน ตั้งแต่เดือนก.พ.2565 และการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ กำลังสร้างความปั่นป่วนให้ความมั่นคงทางด้านอาหารของคนทั้งโลกเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนครัวของโลกอย่างประเทศไทย

เนื่องจากเหล่าชาติมหาอำนาจต่างก็ออกออกมาลงโทษ คว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ทำให้ซัพพลายน้ำมันดิบหายไปจากตลาดโลก วันละ 5 ล้านบาร์เรล ดันราคาให้พุ่งทะยานอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล มาจนถึงทุกวันนี้ และยังสร้างฝันร้ายให้กับภาคการขนส่งไปทั่วโลกอีกด้วย

ผลพวงของสงครามยังทำให้รัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นซัพพลายเออร์วัตถุดิบต้นน้ำภาคการเกษตรรายใหญ่ของโลก อย่าง ปุ๋ยเคมี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสาลี ต้องหยุด ส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปโดยปริยาย

เพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนภาคการเกษตรทั่วโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น จนดันราคาอาหารแพงไปทั่วโลก และเริ่มขาดแคลนหนักในประเทศยากจน โดยสำนักงานอาหารและเกษตร ของสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า เฉพาะแถบเอเชียแปซิฟิก มีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1,800 ล้านคน

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ออกมาระบุว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ 30 ประเทศ ทั่วโลกเอาตัวรอดด้วยการระงับส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ (Food Protectionism) เพื่อสร้าง หลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติตัวเอง เช่น แอลจีเรียห้ามส่งออกพาสต้า อินโดนีเซียหยุดส่งออกน้ำมันปาล์ม อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี และมาเลเซียระงับส่งออกไก่ เป็นต้น

กระแสการกักตุนอาหารทั่วโลกที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกออกมา ชี้ว่า วิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารของโลกจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2566 ขณะที่ FAO ออกโรงเตือนว่าข้าวจะแพงขึ้น โดยดัชนีราคาข้าว Food Rice Price Index ในตลาดโลกเดือนพ.ค. พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน กลุ่มพืชน้ำมันแพงขึ้น 31.1% ธัญพืชแพงขึ้น 29.7%

ขณะที่โลกกำลังวุ่นวายหนัก หันกลับมามองประเทศไทยว่าได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างไร เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกหรือไม่

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่าไทยยังมีอาหารบริโภคเพียงพอ เพราะเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ไม่ประมาทมีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ ผ่านกลไกรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ

รวมทั้งเร่งจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยง BIG DATA จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด ช่วยวางแผนการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนรองรับในสภาวะวิกฤต และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ด้าน นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผอ.สถาบัน อาหาร ออกมาบอกให้คนไทยสบายใจว่าประเทศไทย จะไม่ขาดแคลนอาหารแน่นอน เพราะผลผลิตเหลือเฟือ เช่น ข้าว ผลิตได้ 22 ล้านตัน บริโภค 10 ล้านตัน น้ำตาล ผลิตได้ 10 ล้านตัน บริโภค 2.5 ล้านตัน น้ำมันพืช ผลิตได้ 17 ล้านตัน บริโภค 16 ล้านตัน ส่วนไก่และหมูก็มีเหลือ ส่งออกปีละ 1 ล้านตัน

ย้ำชัดว่าภาวะปริมาณอาหารขาดแคลนไม่ใช่ปัญหา แต่วิกฤตใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญคือปัญหาเรื่องของเสถียรภาพราคาอาหารในประเทศไทยที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ราคาแพงเกินจริง กระทบไปยังปากท้องประชาชน ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดสมดุล ป้องกันปัญหาขาดแคลน การกักตุน และการฉวยโอกาสขึ้นราคา

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน กรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไทยยังไม่ได้ขาดแคลนอาหารจนต้องชะลอการส่งออกเหมือนประเทศอื่น เพราะสามารถผลิตอาหารเองได้มากพอ จากพื้นที่เพาะปลูกวัตถุดิบอาหารที่มีมากถึง 149 ล้านไร่ และมีผู้ผลิตอาหารจำนวนมาก อาทิ วิสาหกิจชุมชน ราว 5.5 หมื่นราย อุตสาหกรรมแปรรูป อาหาร 4.4 หมื่นราย และอุตสาหกรรมอาหาร 5.4 หมื่นราย และยังครองสถิติ ผู้ส่งออกอาหารแปรรูปเบอร์ 13 ของโลก อีกด้วย

วิกฤตอาหารที่แท้จริงของไทย คือ อาหารมีราคาแพง เพราะต้นทุน การผลิตอาหารที่เพิ่มขึ้นมหาศาล จากค่าขนส่งที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าเพื่อผลิตอาหาร โดยเฉพาะอาหารสัตว์ต้นน้ำของภาคปศุสัตว์ และปุ๋ยเคมี ต้นน้ำในภาคการเกษตร ปมปัญหานี้ ยังสร้างความวิตกกังวลใหม่ให้กับคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบ ในการผลิตอาหารและอาหารแปรรูปของไทยด้วย

โดยพบว่าเกษตรกรบางกลุ่มเริ่มลดต้นทุนการผลิต ด้วยการลดปริมาณ การใส่ปุ๋ย ลดปริมาณการให้อาหารสัตว์ลงเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว ทำให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่ของพืชเกษตรเริ่มลดลง ส่งผลกระทบด้านปริมาณและคุณภาพของสินค้าให้ตกต่ำลง และอาจสร้างปัญหาลุกลามกระทบไปยังความ เชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าอาหารไทย ที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาลปีละกว่า 1 ล้านล้านบาทอีกด้วย

สำหรับปุ๋ย ซึ่งเป็นต้นตอของอาหารแพงนั้น นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ออกมาระบุว่า ผลพวงจากสงครามทำให้ราคาขายปลีก ในเมืองไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เช่น ราคาปุ๋ยไนโตรเจน (N) ปี 2563 อยู่ที่ 12,000-15,000 บาทต่อตัน ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 30,000-35,000 บาทต่อตัน

ฟอสฟอรัส (P) ปีที่แล้วเฉลี่ย 20,000 บาทต่อตัน ปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 38,000 บาทต่อตัน และโพแทสเซียม (K) ราคาปีที่แล้วเฉลี่ย 9,000 บาทต่อตัน ปีนี้ราคาอยู่ที่ 32,000 บาทต่อตัน

ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเป็นวงกว้าง เพราะปุ๋ยเป็นสัดส่วน 15% ของค่าใช้จ่ายในภาคสินค้าเกษตร

ขณะที่นายเทพวิทย์ เตียวสุรัตน์กุล สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยออกมาบอกว่า กรณีที่ร้ายแรงที่สุด (Worst-case scenario) มาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อประเทศ รัสเซีย อาจจะทำให้ราคาปุ๋ยตลาดโลกแพงต่อเนื่องยาวนานอีก 3-5 ปี

เสียงบ่นข้าวยากหมากแพงที่แรงขึ้นเรื่อยๆ กดดันให้รัฐบาลลุงตู่ต้องออกมา Take Action ปราบต้นทุนสินค้าตั้งแต่ ทางฝั่งกระทรวงพลังงานนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนแอลพีจีไปช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม กระทรวงการคลังยอมตัดรายได้ใหญ่ ลดภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล แต่ก็ยังเอาราคาน้ำมันและแอลพีจีไม่อยู่

จนล่าสุดกองทุนออกอาการถังแตก เป็นหนี้กว่า 100,000 ล้านบาท แถมต้องวิ่งหาเงินมาเติมเพิ่มอีก ยังไม่สามารถ แก้ปัญหาต้นทุนราคาสินค้าจากน้ำมัน เชื้อเพลิงได้

แม้รัฐบาลจะพยายามกันอย่างหนักในการต่อสู้กับราคาสินค้า แต่ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แถมปัจจัยลบต่างๆ นอกบ้าน ทั้งเรื่องการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมัน และต้นทุนอาหารโลกยังคงไม่ทุเลา

เรื่องนี้จึงกดดันให้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับต้องออกมาสั่งการ ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เร่งจัดทำแผนเผชิญรับมือความ มั่นคงด้านพลังงาน และวิกฤตด้านอาหาร ทั้งเรื่องราคาแพง และปริมาณ ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยจะมีหน่วยงานด้าน ความมั่นคงต่างประเทศ และเศรษฐกิจ ร่วมรับผิดชอบ

ล่าสุดสั่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อรับมือสถานการณ์คือ คณะกรรมการ เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการเฉพาะกิจติดตามประมวลผล วิเคราะห์ผลกระทบและ จัดทำข้อเสนอแนะ ในการแก้ปัญหา ทุกมิติ

คงต้องจับตาว่าคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจะมีมาตรการเด็ดใหม่ๆ หรือ เป็นแค่การเพิ่มคณะกรรมการในรัฐบาล แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนที่ผู้คนชอบแซวกัน

มาจนถึงวันนี้แม้สงครามจะกินเวลามากว่าครึ่งปี รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาอาหารและข้าวของแพง ที่เป็นรูปธรรม จากนี้รัฐบาลคงต้องเร่งพิสูจน์ฝีมือ เพราะหากปล่อยให้ปัญหาค่าครองชีพยืดเยื้อ ปัญหาอื่นก็ตามมา อีกเยอะ เช่น การก่อหนี้ภาคครัวเรือน ปัญหาเงินเฟ้อ

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทย ทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน