ชาวศรีลังกาลุกฮือขึ้น สาเหตุมาจากอะไร

เท็ดดี้

ตอบ เท็ดดี้

มีคำตอบอยู่ในบทความ “ฤดูใบไม้ผลิที่ศรีลังกา” โดยนักวิชาการรัฐศาสตร์ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข สรุปความดังนี้

13 กรกฎาคม 2565 เป็นวันสำคัญทางการเมืองของประเทศศรีลังกา เพราะเป็น “วันแห่งชัยชนะของประชาชน” ในการโค่นล้มระบอบการปกครองของตระกูลราชปักษาที่เข้าควบคุมการเมืองของประเทศมานาน จนเป็นเหมือนตระกูลที่ผูกขาดการเมืองศรีลังกา หรือเป็นดังราชวงศ์ใหม่ที่ปกครองประเทศมาราวเกือบ 2 ทศวรรษ

ในปี 2547 นายมหินทา ราชปักษา ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี 2548 เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเป็นถึง 2 สมัย (2548-2558) พร้อมกับการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของบรรดาเครือญาติในตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาล โดยเฉพาะ นายโกตาบายา ที่ดำรงตำแหน่งในกระทรวงกลาโหม และเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา ส่วนนายมหินทา ย้อนมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเมืองศรีลังกากลายเป็น “กิจกรรมผูกขาดของตระกูลราชปักษา” การเมืองเช่นนี้มักนำไปสู่การคอร์รัปชั่น ขนาดใหญ่ และการใช้อำนาจแบบฉ้อฉลในด้านต่างๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การครองอำนาจอย่างยาวนาน จนระบบตรวจสอบไม่สามารถทำงานได้ ผนวกเข้ากับการคอร์รัปชั่นอย่างมากของคนในตระกูล และการบริหารงานทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด และยิ่งเมื่อผลของนโยบายที่ผิดพลาดถูกถาโถมด้วยวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตสงครามยูเครนแล้ว ก็ยิ่งทำให้วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกามีความรุนแรงมากขึ้น นำไปสู่การประท้วงใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศ

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวศรีลังกาจบลงด้วยชัยชนะ และผู้นำเผด็จการแห่งตระกูลราชปักษาที่คุมอำนาจอย่างยาวนานต้องยุติบทบาทลง ด้วยการเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 13 กรกฎาคม (ตามด้วยการลาออกในเวลาต่อมา) ต้องขอเรียก ด้วยสำนวนทางรัฐศาสตร์ว่าเป็น “ศรีลังกาสปริง” หรือเป็น “ฤดูใบไม้ผลิ” ในศรีลังกา

หากพิจารณาถึงวิกฤตนี้ จะเห็นถึงการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลคือจุดเริ่มต้น พร้อมกับการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างมาก รวมถึงการดำเนินนโยบาย “ประชานิยมแบบหาเสียง” ด้วยการลดภาษี อันทำให้กลุ่มธุรกิจและกลุ่มคนชั้นบนของสังคมได้ประโยชน์โดยตรง แต่กลับทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหามากขึ้นจนเป็นวิกฤตใหญ่

ความผิดพลาดของรัฐบาลนำไปสู่ความขาดแคลน ได้แก่ 1.ความขาดแคลนด้านอาหาร และราคาอาหารที่แพงขึ้นอย่างมาก 2.ความขาดแคลนด้านพลังงานและเชื้อเพลิง จนต้องหยุดงานและหยุดเรียน เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้า

3.ความขาดแคลนก๊าซหุงต้ม ทำให้คนต้องหันกลับไปใช้ฟืนในการทำอาหาร 4.ความขาดแคลนเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และ 5.ความขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ประเทศไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้

ผลของความขาดแคลนเช่นนี้ ดันให้อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาทะยานสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ คนทุกชนชั้นและทุกกลุ่มประสบปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง หรือในภาพรวมคือการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา ในมุมมองของประชาชน รัฐบาลของตระกูลราชปักษาคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นตระกูลที่เป็นต้นตอของปัญหา

วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะล้มละลาย จนในที่สุดคนรุ่นใหม่และประชาชนจำนวนมากตัดสินใจ “ลงถนน” เพื่อแสดงพลังขับไล่ตระกูลราชปักษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน