การเคลื่อนไหวของ “ราษฎร” ในบรรยากาศ “อภิปรายทั่วไป” น่าจับตามอง

น่าจับตามองไม่เพียงเพราะ “ราษฎร” สามารถยืดหยุ่นและพลิกแพลงรูปแบบในการเคลื่อนไหวอย่างสอดรับไปกับ “สถานการณ์”

บนพื้นฐานแห่ง “การมีส่วนร่วม” ในทาง การเมือง

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ดำเนินการ “อภิปรายทั่วไป” ในที่ประชุมรัฐสภา “ราษฎร” ก็เปิดการ “ลงมติ” ภายนอกรัฐสภา

ที่สำคัญ คือ “เครือข่าย” ของ “ราษฎร” ที่มีอยู่

จุดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ระยะเวลาในการเคลื่อนไหวของ “ราษฎร”

เห็นได้อย่างเด่นชัดว่า “ราษฎร” ประกาศการร่วม “ลงมติ” ในวันที่ 17 กรกฎาคม ก่อนการดำเนินญัตติในรัฐสภาของฝ่ายค้านเป็นเวลา 2 วัน

เพียงไม่กี่วันของคำประกาศก็เปิดจุดได้ 40 กว่าจังหวัด

หากมองจาก 70 กว่าจังหวัดก็ถือได้ว่ายังไม่ครบ แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า 40 กว่าจุดเท่ากับยึดครองพื้นที่ได้มากกว่าครึ่งในขอบเขตทั่วประเทศ

ที่ว่า “ราษฎร” หมดพลัง จึงไม่น่าจะเป็นจริง

เป็นความจริงที่การเคลื่อนไหวในปี 2565 จะมีคนเข้าร่วมถดถอย น้อยลง

ที่ระบุว่าถดถอยและน้อยลง เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวอย่างอึกทึกครึกโครมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 และเกือบตลอดปี 2563

แต่เมื่อประสบกับมาตรการ “เข้ม” จากรัฐบาลในปี 2564

การชุมนุมใหญ่ไม่ว่าจะที่แยกราชประสงค์ ไม่ว่าจะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็มีคนเข้าร่วมไม่มากและปริมาณน้อยลงในเชิงเปรียบเทียบ

แต่ที่น้อยลงก็เฉพาะในกระบวนท่าของการชุมนุม

จุดหนึ่งจากการขับเคลื่อนของ “ราษฎร” ก็คือ ผลสะเทือนที่ตามมาอย่างคึกคัก

เห็นได้จากพรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย เห็นได้จากการร่วมมือของนักวิชาการประสานกับองค์กรสื่อออนไลน์ที่สำคัญในการโหวตนอกสภา

ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากการริเริ่มนำไปก่อนของ “ราษฎร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน