เชียงใหม่ – นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เผยว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็น โรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ การแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนและสถานที่ต่างๆ ในการช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อมูลว่า โรคไข้เลือดออกมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก ในทศวรรษ ที่ผ่านมา โดยร้อยละ 70 ของกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการ เป็นไข้เลือดออกอยู่ในทวีปเอเชีย โรคไข้เลือดออกเป็นโรค ที่ระบาดได้ตลอดทั้งปี พบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน จากการคาดการณ์สถานการณ์พบว่าปี 2565 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปี 2564 มีการระบาด ค่อนข้างน้อยและลักษณะการระบาดของไข้เลือดออก จะเป็นการระบาดแบบปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี โดยกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตคือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์

จากการเฝ้าระวังของกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สสจ.เชียงใหม่ สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 ก.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 653 ราย ยังไม่มีเสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือวัยทำงานช่วงอายุ 25-34 ปี และ 35-44 ปี รองลงมาคือกลุ่มนักเรียน นักศึกษา อายุ 15-24 ปี คาดว่าในช่วงต่อจากนี้ (ก.ค.-ส.ค.) มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจาก มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้น้ำขังในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลาย

ขอให้ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันกำจัดแหล่งพันธุ์ยุงลายบริเวณชุมชนและรอบบ้าน โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บเศษภาชนะที่ต้องการทิ้งไว้ในถุงดำมัดปิดปากถุงทิ้งลงถังขยะ และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้แล้วและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุงและนอนในมุ้ง สามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อ ไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน