คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโควิด-19 วงเงินเกือบ 4,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 3 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ค.-ก.ย.นี้

แบ่งเป็นซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดชนิดกินสำหรับต้านไวรัส และยาเรมเดซิเวียร์ ยาชนิดฉีดต้านไวรัส ส่วนวงเงินที่เหลือเป็นค่าค้างชำระยาต้านไวรัส และชุดตรวจเอทีเคครั้งก่อน

รัฐบาลย้ำเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันโควิด สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างปลอดภัยในหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับ

การอนุมัติดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางข้อสงสัยถึงภาวะขาดแคลน และเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อโควิด

ก่อนหน้านี้ ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ เนื่องจากมีไม่เพียงพอรักษา ผู้ป่วยโควิด

พร้อมเรียกร้องให้เลิกผูกขาดการผลิต และจัดหายาโดยองค์การเภสัชกรรม เพราะไม่สามารถป้อนยาให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้เพียงพอ และทันต่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มขึ้น

จึงเสนอให้เปิดโอกาสภาคเอกชนนำเข้ายา นอกจากแก้ปัญหาขาดแคลนแล้ว ผู้ป่วยยังเข้าถึงยาได้ง่ายและเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ยาราคาถูกลง ประหยัดงบประมาณอีกด้วย

เหมือนกรณีวัคซีนไม่เพียงพอช่วงระบาดหนัก สุดท้ายก็ยอมให้เอกชนนำเข้า ไม่รู้ว่ารัฐบาลได้ถอดบทเรียนที่ผ่านมาหรือไม่

ดังที่ทราบกันดีจากความผิดพลาดวัคซีนในระยะแรก ที่ไทยไม่ยอมเข้าร่วมโคแวกซ์ โครงการระดับโลกเพื่อเข้าถึงวัคซีนโควิด ขณะที่ประเทศร่วมภูมิภาคต่างเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม

ปัจจุบันประเทศเหล่านี้ยังได้สิทธิบัตรผลิตยา โมลนูพิราเวียร์ และการที่ผลิตเองได้จึงทำให้ราคาถูก ประมาณพันบาทต่อการรักษา 1 ครั้ง ขณะที่ไทยนำเข้าในราคาหมื่นบาท แตกต่างกัน 10 เท่า

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้ายาได้ ไม่ใช่ผูกขาด ซ้ำยังผลิตและจัดหาไม่ทัน ราคาแพง ผู้ป่วยเข้าถึงยาช้าและยาก และยังป้องกันปัญหายาปลอมไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย

สำคัญกว่านั้นรัฐบาลต้องหาหนทาง เพื่อให้ไทยได้สิทธิบัตรผลิตยาต้านไวรัสชนิดใหม่ได้เอง เพราะโควิดคงอยู่ไปอีกนาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน