เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศมีจำนวน 1.75 ล้านราย เพาะปลูกยางพาราบนพื้นที่ 19.6 ล้านไร่ ปี 2564 มีการผลิตยางพาราได้ประมาณ 4.7 ล้านตัน ส่งออก 4.13 ล้านตัน มีที่เหลือใช้ในประเทศ โดยผลผลิตยางพาราจะใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ถุงมือ ล้อรถ สายรัด ยางยืด และอยู่ในอุตสาหกรรมเชิงวิศวกรรมต่างๆ เช่น ทำผิวถนน แอสฟัลต์ ลานสนามฟุตซอล ฯลฯ

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือ และเครื่องมือแพทย์ เพื่อสุขอนามัยในการต่อสู้กับโควิด-19 มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุดราคายางพาราปรับตัวลดลงบ้างตามราคาในตลาดโลก ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง เพราะก่อนหน้านี้ราคายางพาราไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นการลดลงถือเป็นการปรับฐาน แต่การปรับตัวลดลงขอให้เกษตรกรชาวสวนอย่ากังวล เพราะความต้องการยางพารายังมีในตลาดโลก และราคายางพาราจะไม่มีทางเห็นราคา 3 กิโลกรัม 100 บาท อย่างที่หลายคนกังวลแน่นอน

แต่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คาดการณ์ว่า 6 เดือนหลัง ของปี 2565 ราคายางก้อนถ้วยจะอยู่ที่ 48 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ประมาณ 57 บาท/ก.ก. ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ประมาณ 63 บาท/ก.ก.

ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) กยท.มีการเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออก (เงินเซส) ได้ประมาณ 6,558 ล้านบาท ใกล้เคียงช่วงเดียวกันของปี 2564 เก็บเงินเซสได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท คาดว่าตลอดปี 2565 จะสามารถเก็บเงินเซส จากการส่งออกยางพารา ได้ประมาณ 8,442 ล้านบาท จากการส่งออกยางพาราใกล้เคียงปีก่อนหน้า ส่วนราคาในประเทศคาดว่าจะทรงตัวในระดับที่เกษตรกรรับได้แน่นอน

กยท. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร บริหาร จัดการเกี่ยวกับ เงินของกองทุน ส่งเสริม และสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ ดำเนินการให้ระดับราคายางมีเสถียรภาพ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการปลูกแทนและการปลูกใหม่ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สามารถผลิตและส่งออกยางพารา ได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า ปี 2565 ถือเป็นการครบรอบ 7 ปีของกยท. ดังนั้น กยท.ตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนภาคเกษตร พร้อมเปิดแผนการบริหารยางพาราอย่างยั่งยืน เชื่อมมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

พร้อมผลักดันให้เกิดความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางระยะยาว เช่น ส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมตามความต้องการของตลาด สนับสนุนการปลูกยางแบบสวนยางยั่งยืน สามารถปลดล็อกความเหลื่อมล้ำ ด้านสิทธิประโยชน์ของชาวสวนยางให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน โดยการ จัดสวัสดิการให้พี่น้องชาวสวนยาง ถือเป็นเกษตรกรเพียงกลุ่มเดียวของประเทศไทยที่ได้รับสิทธิสวัสดิการ

ขณะที่ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการเกษตร ในส่วนของยางพาราพบว่ามีผลผลิตที่ลดลง คาดว่าปี 2565 ผลผลิตจะลดลงประมาณ 4.8-5.2%

ดังนั้น เกษตรกรต้องวางแผนบริหารปริมาณผลผลิต และรายได้ให้สม่ำเสมอ การทำสวนยางของเกษตรกรก็ได้รับประโยชน์จากความกังวลเรื่องสภาพโลกร้อน เนื่องจากโครงสร้างสวนยางของไทยมีลักษณะเป็นแบบเปิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ราก ไม้ และยาง เป็น Zero Waste 100% ขณะที่องค์กรชั้นนำต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น กยท. จึงกำหนดแนวทาง ‘Greener Better’ ด้วยการสร้างนวัตกรรมทั้งผลิตภัณฑ์และสังคม ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

โดยผลักดันโครงการบริหารจัดการ Carbon credit ในสวนยาง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ เนื่องจากยางพาราสามารถ กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4.22 ตันต่อไร่ ถือเป็นโมเดลสำคัญให้กับพืชอื่นในการบริหารจัดการเรื่อง Carbon credit ต่อไป

นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้สร้างทั้งวิกฤตและโอกาสให้กับอุตสาหกรรมยางพารา โดยข้อมูลจาก ANRPC คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตยางจะมีแนวโน้มน้อยกว่าความต้องการใช้ยาง ในขณะที่ความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมทางการแพทย์มีแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

“ก้าวต่อไปของ กยท. คือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางให้สามารถเพิ่มมูลค่า แข่งขันได้ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ Smart Farmer Start up ผู้ประกอบการ ในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางในแต่ละพื้นที่ เพื่อ ยกระดับ Welfare economy ของคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานยางพารา”

ขณะนี้ยอมรับว่า กยท. กังวลกับสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและจีน ที่เป็นประเทศผู้ซื้อยางพารารายใหญ่ของโลก โดยรัฐบาลของสหรัฐ อยู่ระหว่างการเบรกความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้การบริโภคอาจลดลง ก็จะกระทบต่อการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้ลดกำลังการผลิต และอาจลดการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิต ไม่ต่างอะไรกับจีน ดังนั้น ต้องจับตาเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกต่อไป

ส่วนการปรับลดลงของราคาเป็นไปตามราคาในตลาดโลก เกิดจากความต้องการในตลาดโลกลดลง ซึ่งยางพาราไทยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน เหมือนในตลอด 20 ปีก่อนหน้าที่ราคาน้ำมันเพิ่มหรือลดลง ยางพาราในไทยก็จะปรับตัวตามเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่ผลิตวัตถุดิบแทนยางสังเคราะห์และยางพาราได้แล้ว ความต้องการของประเทศผู้บริโภคอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน อัตราเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ส่งผลให้ไทยได้รับเงินจากการส่งออกยางพาราเป็นสกุลเงินบาทมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อต่อยอดงานวิจัยเกี่ยวกับยางพาราที่มีจำนวนมาก สู่การเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย กยท. เตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาให้ ตามแผนที่เตรียมเสนอให้ กยท. จัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดย กยท. จะถือหุ้น 49% เอกชนถือหุ้น 51% มีทุนประเดิมในการดำเนินธุรกิจประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท

โดยบริษัทร่วมทุนนี้จะมีฐานะเป็นเอกชน มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ส่วนเอกชนที่จะร่วมทุนกับกยท. จะเป็นต่างชาติหรือไทยก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติที่จะสนับสนุนเป้าหมายของบริษัทใหม่ เพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย อาทิ ต้องมีนวัตกรรม เทคโนโลยี มีการตลาดที่ยอดเยี่ยม เป็นต้น

ดังนั้น หากสคร.อนุมัติให้สามารถดำเนินการได้จะต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป และปลายปีนี้ก็สามารถคัดเลือกเอกชนที่จะมาร่วมทุนช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้ยั่งยืน

แม้กยท.จะมีนโยบายยกระดับราคายางพาราไทย โดยการนำ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ผู้ว่าการกยท. ยังยืนยันว่าโครงการประกันรายได้ยางพารายังจะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรชาวสวนยางว่าราคายางพาราจะไม่ตกต่ำชาวสวนยางจะมีกำไรจากการทำอาชีพเกษตรกร มีรายได้ที่มั่นคงมีเสถียรภาพ

โดยล่าสุด กยท. เสนอโครงการประกันรายได้ยางพารา เฟส 4 เพื่อเป็นการประกันรายได้ให้ชาวสวนยาง เสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) พิจารณาแล้ว คาดว่าเร็วๆ นี้จะเสนอขอรัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อ รักษาเสถียรภาพราคายางพาราต่อไป

“ครบรอบ 7 ปี กยท.ประกาศสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมยางพาราและชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายแผนการบริหารยางพาราอย่างยั่งยืน ทั้งด้านราคาทำสวนยางให้เกิดความคุ้มค่า ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์แหล่งที่อยู่ของพืชและสัตว์ ควบคุมการใช้สารเคมี สร้างระบบการจัดการขยะ ที่ดี และด้านสังคม ด้วยการไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน และคุ้มครอง ความปลอดภัยของแรงงานตามกฎหมายแรงงานต่อไป”

ทุกฝ่ายต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายไทยกลับมาเป็น ผู้ส่งออกยางพาราอันดับต้นๆ ของโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน